ซีอาน, 3 พ.ย. (ซินหัว) — คณะนักโบราณคดีเผยการค้นพบร่องลึกวงแหวนขนาดใหญ่และสุสานสำหรับผู้ใหญ่ พร้อมชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาบางส่วน ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปถึงช่วงปลายวัฒนธรรมหย่างเสา ในเมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ซากโบราณเหล่านี้ถูกค้นพบที่แหล่งโบราณคดีเจี่ยงหลิวในปี 2022 ขณะสถาบันโบราณคดีส่านซีดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีในหมู่บ้านเจี่ยงหลิว อำเภอจิงหยางของเมืองเสียนหยาง
งานขุดค้นพบพื้นที่ส่วนเหนือของร่องลึกวงแหวนเสียหายจากการพังทลายของหุบเขาแม่น้ำ ขณะซากครึ่งวงกลมส่วนใต้มีความยาวราว 1,200 เมตร โดยซากที่หลงเหลืออยู่ในร่องลึกครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200,000 ตารางเมตร
คณะนักโบราณคดียังพบสุสานผู้ใหญ่ 58 แห่ง บริเวณด้านนอกร่องลึกส่วนตะวันตกเฉียงใต้ และขุดพบวัตถุโบราณเกี่ยวกับการฝังศพจำนวนมาก อาทิ เครื่องไม้เครื่องมือทำจากกระดูก หยก เครื่องมือหิน เครื่องประดับ และเครื่องปั้นดินเผา โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือกระดูกในรูปทรงปิ่นปักผม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบวัตถุดังกล่าวจากการขุดค้นซากวัฒนธรรมหย่างเสา
เส้าจิง นักวิจัยจากสถาบันฯ ระบุว่าการค้นพบร่องลึกขนาดใหญ่และสุสานผู้ใหญ่ครั้งนี้ มีความสลักสำคัญต่อการวิจัยทางโบราณคดีของวัฒนธรรมหย่างเสาตอนปลาย เนื่องจากช่วยส่งมอบข้อมูลสำคัญแก่การศึกษารูปแบบชุมชน และโครงสร้างทางสังคมในพื้นที่ตอนกลางของส่านซีในเวลานั้น
อนึ่ง วัฒนธรรมหย่างเสาซึ่งมีอายุย้อนไปราว 5,000-7,000 ปีก่อน เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่มีต้นกำเนิดบริเวณแม่น้ำเหลืองตอนกลาง และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางด้านเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาขั้นสูง