อย.ขึ้นทะเบียน "ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป" รักษาโควิด ใช้ในกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody หรือ LAAB) ให้เป็นยารักษาโรคแล้ว ซึ่งในส่วนของรายละเอียดเรื่องของการใช้นั้นขอให้สอบถามไปยัง อย.อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยได้มีการนำเข้าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปมาใช้เพื่อเพิ่มภูมคุ้มกันป้องกันในกลุ่มผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสง, ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานว่าได้ให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 อายุ 105 ปี พบว่าได้ผลดี รวมระยะเวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ต่อมามีการรายงานว่าได้มีการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวถึงการอนุญาตให้ใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody หรือ LAAB) สำหรับการรักษาโรค ว่า การอนุญาตครั้งนี้ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนใหม่ แต่เป็นการเพิ่มข้อบ่งใช้ จากเดิมขึ้นทะเบียนฉีดเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรค ก็อนุญาตให้ใช้เพื่อการรักษาโรคได้ด้วย ในกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว อายุ 12 ปี ขึ้นไป มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไป โดยจะมียา 2 ชนิด ฉีดชนิดละ 2 เข็ม ในผู้ที่ติดเชื้ออาการน้อย สำหรับข้อมูลทั่วโลก ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียน LAAB เพื่อรักษาโควิดในสหภาพยุโรป(EU) อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ส่วนในเอเชียตนยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่ทราบว่าสิงคโปร์ขึ้นทะเบียนใช้เพื่อรักษาโรคไปแล้ว