เตรียมเปลี่ยนเสานำทางเป็น "เสายางพารา" ช่วยใช้ยางในประเทศ

2018-01-24 12:10:43

เตรียมเปลี่ยนเสานำทางเป็น "เสายางพารา" ช่วยใช้ยางในประเทศ

Advertisement

กรมทางหลวงเตรียมเปลี่ยนเสานำทางที่เป็นเสาปูนให้เป็นเสายางพาราเพื่อช่วยลดปัญหาราคายางในประเทศตกต่ำ


จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รัฐบาลพยายามหาวิธีการใช้ยางพาราในสต๊อก โดยให้หน่วยงานต่างๆ หาวิธีการนำยางมาใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น ในขณะที่ชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเซีย เลขที่ 26/2 หมู่ที่ 5 ต.บ้านนา อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2553 และในปี 2554 สามารถผลิตยางคอมปาวซึ่งเป็นยางที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ จนกระทั่งในปี 2555 จึงสามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆได้จริง เช่น สายพานลำเลียง พื้นปูสนาม และอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงาน ในขณะนี้ได้มีแนวคิดผลิตเสานำทางเสนอกรมทางหลวงนำไปใช้ในเส้นทางหลักของกรมทางหลวงทั่วประเทศ


นายหิรัญ เรืองสวัสดิ์ ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้จำกัด กล่าวว่าในเรื่องแนวคิดการทำเสาหลักนำทางนั้น เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการ นำยางมาใช้ในประเทศให้มากขึ้นจึงได้ประสานกับหน่วยงานราชการต่างๆ ที่คาดว่าจะสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ได้ และเมื่อได้เข้าไปประสานงานกับกรมทางหลวง ก็ได้รับโจทย์ ในการผลิตแบริเออร์ และเสาหลักนำทาง จึงเริ่มคิดค้นหล่อเสาหลักนำทาง ซึ่งคิดว่าทางสหกรณ์ฯ สามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพ จึงได้เริ่มผลิตตัวอย่างให้กรมทางหลวงพิจารณา ในรายละเอียดและคุณภาพของชิ้นงาน ซึ่งกรมทางหลวงเห็นว่าชุมนุมสหกรณ์แห่งนี้ ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางเป็นสมาชิกกว่า 60,000 คน มีศักยภาพในการผลิตชิ้นยาง จึงได้ให้ผลิตตัวอย่างเพื่อนำไปทดสอบ





โดยขณะนี้ได้ผลิตไปให้พิจารณาแล้ว 2 แบบคือ แบบเสาตัน เสามีน้ำหนัก 42.5 กิโลกรัม ใช้ยางพาราไป 15 กิโลกรัม ต่อต้น และราคาค่อนข้างสูง กรมทางหลวงจึงให้พิจารณารูปแบบใหม่ จึงได้เปลี่ยนเป็นแบบเสากลวง ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่า และถูกกว่า ขณะนี้เหลือแต่ในส่วนของรายละเอียดและสเปคบางอย่าง เพื่อให้ได้เสาที่มีคุณภาพดีที่สุด
หลังจากนำตัวอย่างเสนอ กรมทางหลวงจึงได้มีการตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีความชัดเจนว่าจะเริ่มต้นทำสัญญาจ้าง ได้ภายในเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน




นายหิรัญ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ลงทุนเครื่องจักรในการผลิตเสาต้นแบบนำเสนอไปแล้วเกือบ 5,000,000 บาท และหากมีการทำสัญญากันจริงก็จะต้องลงทุนอีกกว่า 10,000,000 บาท และจะต้องใช้หุ่นยนต์ในการผลิตชิ้นงาน เนื่องจากชิ้นงานผลิตจากความร้อน และต้องการความรวดเร็ว จึงต้องใช้หุ่นยนต์มาดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ทางประเทศไต้หวันได้ส่งตัวหุ่นยนต์ที่ใช้ดำเนินงานมาแล้ว รอเพียงทำสัญญากับกรมทางหลวง ก็จะได้ดำเนินการต่อในเรื่องของโรงงานผลิตต่อไป
สำหรับเสาปูนเดิมนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณต้นละ 900 บาท ในขณะที่เสายางที่จะผลิตนี้ อยู่ที่ประมาณ 2000 บาทต่อต้น ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องความปลอดภัย เพราะเสาปูนหากมีอุบัติเหตุก็จะเกิดความบาดเจ็บความสูญเสียมาก แต่เสายางจะช่วยลดความบาดเจ็บ และความสูญเสียได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเสาปูนเปราะบางเสียหายง่าย ในขณะที่เสายางมีความยืดหยุ่นไม่เสียหายง่ายเหมือนเสาปูน และจากการทดลองปักเสายางจำนวน 2 ต้นไว้ในโรงงาน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าอายุการใช้งานของเสายางนี้คาดว่าน่าจะมีอายุเป็น 10 ปี