อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยคนอุบลฯ – ศรีสะเกษ ยืดหยุ่นทางใจสูงสู้วิกฤต "พายุโนรู" ได้ดี

2022-10-03 14:19:23

 อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยคนอุบลฯ – ศรีสะเกษ ยืดหยุ่นทางใจสูงสู้วิกฤต "พายุโนรู" ได้ดี

Advertisement

อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยคนอุบลฯ – ศรีสะเกษ ยืดหยุ่นทางใจสูงสู้วิกฤต "พายุโนรู" ได้ดี เผยมีความเครียด 2% เท่าคนทั่วไปยามใช้ชีวิตปกติ

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65  ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการประเมิน และผู้แลสภาพจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า จากการติดตามประเมินผล และดูแลสภาพจิตใจของประชาชนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม พบว่าบางพื้นที่ เช่น จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สิ่งที่เรามองเห็นคือ ประชาชนค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทางใจ มีพลังความเข้มแข็งทางจิตใจสูง หลังคัดกรองพบว่ามีความเครียดรุนแรงที่ต้องดูแลอยู่ที่ประมาณ 2 % เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไปที่มีความเครียดในการดำรงชีวิตปกติอยู่แล้ว แน่นอนว่าความเครียดเล็กน้อย เป็นภาวะที่เจ้าตัวสามารถจัดการได้ ต้องการความช่วยเหลือน้อย ชุมชนดูแลกันเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมที่มีความเข้มแข็งมาก

“จากการวิเคราะห์พลังจิตใจที่มีสูง สามารถตั้งหลักสู้กับวิกฤตได้ว่าเพราะอะไร เราพบว่าความใส่ใจระหว่างกัน เราเห็นความใส่ใจระหว่างกันของเครือญาติ ของชุมชน ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าสู่ภาวะของความปลอดภัยเร็ว ก็จะมีความสงบทางจิตใจเร็ว มีความหวังในการกอบกู้วิกฤติร่วมกัน” พญ.อัมพร กล่าว และว่า ล่าสุดมีข้อมูลทางพื้นที่ภาคกลางที่กำลังระส่ำระสาย กรมสุขภาพจิตเร่งลงพื้นที่ เมื่อช่วงเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และรอบๆ ภาคกลาง ส่วนกรณีที่มีหลายคนคาดกาณ์ว่าสถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่เคยเผชิญนั้น การคาดการณ์ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือ การเตรียมตัวจะช่วยลดความเสียหาย ช่วยลดความเครียดได้ แต่ไม่ใช่คาดการณ์แล้วคิดว่าทุกอย่างจะเลวร้ายไปหมด ซึ่งที่ผ่านมา ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เราก็สามารถผ่านมันไปได้ ดังนั้นตอนนี้เราก็จะผ่านไปได้เช่นกัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุที่ห่วงบ้าน ห่วงข้าวของภายในบ้านนั้น ต้องเข้าใจกลไกของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านหลังนั้นมาทั้งชีวิต มีความผูกพัน รู้สึกสำคัญเท่ากับชีวิตของท่าน ทำให้พบว่าหลายคนไม่ยอมทิ้งไปไหน ก็ขอให้ลูกหลานอย่าบังคับ หรือหักหาญด้วยความโกรธเคืองว่าต้องออกจากบ้าน ก็ขอให้มีสติในการสื่อสารด้วยคำพูดให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจว่าบ้านจะอยู่ตรงนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล และถ่ายภาพให้เห็นเป็นระยะ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้ว่าไม่ได้ทิ้งบ้านขาดไปไหน แต่ยังมีการติดตามได้เป็นระยะ ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับฟังและปรับตัวได้ รู้ว่าต้องไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยเพื่อกลับเข้ามาดูแลบ้านได้อีกครั้งหลังน้ำลด รวมถึงการสื่อสารถึงข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหายก็เช่นกัน เพราะบางอย่างเป็นสิ่งทีมีคุณค่าทางจิตใจของผู้สูงอายุ การสื่อสารอย่าไปเน้นให้ผู้สูงอายุทำใจ ตัดใจ แต่ให้รับฟังความรู้สึกของท่านให้มาก กอดท่าน อย่าปฏิเสธการรับฟังเมื่อผู้สูงอายุแสดงความหม่นหมอง

“หลายครั้งที่เราก้าวข้ามการรับฟังความรู้สึกของคนรอบข้าง ผู้สูงอายุ ไปสู่การบอกให้ตัดอกตัดใจ ทำให้กลายเป็นว่ากระบวนการสื่อสารไม่เข้าอกเข้าใจกัน ทำให้ผู้สูงอายุยังเก็บความทุกข์เอาไว้ ลูกหลานสั่ง แนะนำว่าให้หยุดพูด แต่ให้ทำเช่นนั้น เช่นนี้ ก็จะกลายเป็นความเก็บกดทางอารมณ์ ขณะที่ลูกหลานอาจจะไม่เข้าใจผู้สูงอายุ ก็กลายเป็นความเกรี้ยวกราด โกรธ ทำให้สัมพันธ์ภาพในครอบครัวเสีย เพิ่มเติมจากข้าวของที่เสียหายไปอีก” พญ.อัมพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต สรุปผลการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบวิกฤติจากอุทกภัยโนรู ในเขตสุขภาพที่ 10 สรุปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. รายงานว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการดูแลจิตใจ 302 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในเกณฑ์ได้รับการดูแล 14 คน ส่วน 269 คน มีภาวะเครียดน้อย ไม่พบภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ขณะที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการดูแลจิตใจ 742 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในเกณฑ์การดูแล 30 คน ส่วน 537 คนมีภาวะเครียด และเครียดน้อย ไม่พบซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย