ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง 17 จังหวัด
เมื่อวันที่ 28 ก.ย.65 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 44/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระบุว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประกาศ ฉบับที่ 41/2565 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 27 ก.ย. – 2 ต.ค.65 ปัจจุบัน กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ และคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุไต้ฝุ่น "โนรู" บริเวณแขวงสาละวัน ประเทศลาว มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 50 กม. ทางทิศตะวันออกของ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบริเวณ จ.อำนาจเจริญและอุบลราชธานีในคืนวันที่ 28 ก.ย.65 และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักและมีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขณะนี้ในหลายพื้นที่มีฝนตกสะสมในช่วง 1 - 2 วันนี้ มากกว่า 100มิลลิเมตร กอนช.ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าอิทธิพลของพายุจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกต่อเนื่องสะสม 150 - 250 มิลลิเมตร ประกอบกับปัจจุบันในลำน้ำและแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำมากอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 29 ก.ย.-4 ต.ค.65 ได้แก่
1. ภาคเหนือ
-จ.ลำปาง อ.ห้างฉัตร เมืองลำปาง และเกาะคา
-จ.ตาก อ.อุ้มผาง ท่าสองยาง และแม่ระมาด
-จ.เพชรบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี ศรีเทพ บึงสามพัน และหนองไผ่
-จ.กำแพงเพชร อ.ปางศิลาทอง และคลองลาน
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-จ.อุดรธานี อ.บ้านผือ
-จ.ชัยภูมิ อ.ภักดีชุมพล หนองบัวระเหว และหนองบัวแดง
-จ.ขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น
-จ.ยโสธร อ.เลิงนกทา เมืองยโสธร และทรายมูล
-จ.นครราชสีมา อ.แก้งสนามนาง และด่านขุนทด
-จ.บุรีรัมย์ อ.กระสัง
-จ.ศรีสะเกษ อ.ไพรบึง กันทรารมย์ และกันทรลักษ์
-จ.อุบลราชธานี อ.เขื่องใน ดอนมดแดง เมืองอุบลราชธานี ศรีเมืองใหม่ นาตาล โขงเจียม เดชอุดม ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ โพธิ์ไทร ม่วงสามสิบ ตาลสุม และเขมราฐ
-อำนาจเจริญ อ.เมืองอำนาจเจริญ เสนางคนิคม พนา และชานุมาน
-จ.มุกดาหาร อ.ดอนตาล
3. ภาคกลาง
-จ.ลพบุรี อ.ลำสนธิ ท่าหลวง ชัยบาดาล สระโบสถ์ และพัฒนานิคม
-จ.สระบุรี อ.มวกเหล็ก วังม่วง และแก่งคอย
4. ภาคตะวันออก
-จ.ปราจีนบุรี อ.ประจันตคาม เมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี นาดี และศรีมหาโพธิ
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชม. และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือรวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์