กทม.ร่วมคิกออฟแคมเปญ "หยุด ก่อนทางข้าม"เตรียมจับมือ ตร. เข้มงวดจับปรับผู้กระทำผิด ควบคู่สร้างจิตสำนึก
เมื่อวันที 21 ก.ย. 65 กรุงเทพมหานคร ( กทม. ) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี จัดกิจกรรม Kick off ทางม้าลายปลอดภัยวินัยดี ภายใต้แคมเปญ “หยุด ก่อนทางข้าม” รณรงค์พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่ กทม. เป็นศูนย์กลางในการรณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้สังคมร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและวินัยจราจร เพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะบริเวณทางม้าลายคนข้ามให้มีความปลอดภัยทั้งคนเดินข้ามและผู้ขับขี่
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน โดยดำเนินการทั้ง 3 ส่วน คือ การปรับปรุงทางด้านกายภาพ การดูแลความปลอดภัยโดยสนับสนุนกำลังเทศกิจประจำหน้าโรงเรียน และการร่วมกับตำรวจในการบังคับเข้มงวดเรื่องการจับปรับผู้กระทำผิด ในการปรับปรุงด้านกายภาพ โดยเฉพาะทางม้าลายใน กทม. มีทั้งหมด 2,788 จุด ที่ผ่านมามีการปรับปรุง 1,286 จุด โดยการทาสีขาวและสีแดงให้เห็นชัดเจน ในเดือน ก.ย. 65 ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางแยกข้ามถนน เพิ่มเติมอีก 2 จุด รวมเป็น 540 แห่ง ติดตั้งสัญญาณทางข้ามชนิดกดปุ่ม เพิ่ม 34 แห่ง รวมเป็น 271 แห่ง และติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบเตือนทางข้าม เพิ่ม 50 แห่ง รวมเป็น 974 แห่ง และมีแผนจะปรับปรุงเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2566 ขณะเดียวกันในด้านการดูแลความปลอดภัย กทม.ได้จัดทำโครงการ School care ดูแลนักเรียนบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียนและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร 526 จุด แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง โรงเรียนสังกัด สพฐ. 45 แห่ง โรงเรียนเอกชน 43 แห่ง และจุดอื่น ๆ 1 แห่ง ใช้เทศกิจ 574 ราย ต่อผลัด หรือ 1,148 รายต่อวัน ช่วงเวลาในการดูแล 2 ช่วง แบ่งเป็น ช่วงเช้า 06.30 - 08.30 น. ช่วงเย็น 14.30 - 16.30 น.
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า การปรับปรุงทางม้าลาย กทม.จะทำให้ครอบคลุมทุกจุด แต่ไม่ใช่ทุกจุดที่จะต้องทำสัญญาณกดปุ่ม แต่ซึ่งการติดตั้งสัญญาณเพิ่มเติมต้องพิจารณาจุดที่เหมาะสม บางจุดอาจไม่คุ้มที่จะติดตั้งเพราะเป็นถนนเส้นเล็ก แต่ขอให้มีแสงสว่างเพียงพอ อย่างไรก็ดีถ้าไม่มีการหยุดรถให้คนข้าม ก็เป็นไปไม่ได้ที่ทางม้าลายจะปลอดภัย ต้องมี 3 ส่วน คือ เรื่องกายภาพต้องดี เรื่องจิตสำนึกต้องมี และการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเพิ่มขึ้น ขณะนี้ กทม.ได้ปรับป้ายความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง บริเวณทางม้าลาย เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็ว ถ้าใช้ความเร็วเกินก็จะต้องมีการจับปรับโดยทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ได้คุยกับคุณพ่อของคุณหมอกระต่าย แนะนำว่ายังมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการบังคับใช้กฎหมายน้อยอยู่ ซึ่งจะต้องร่วมมือกับตำรวจดำเนินการจับปรับอย่างเข้มข้นต่อไป
สำหรับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี ที่ร่วมในกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สำนักงานตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น