คกก.โรคติดต่อแห่งชาติไฟเขียวเข้าประเทศไม่ต้องแสดงเอกสารฉีดวัคซีน

2022-09-21 17:08:35

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติไฟเขียวเข้าประเทศไม่ต้องแสดงเอกสารฉีดวัคซีน

Advertisement

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติไฟเขียวเข้าประเทศไม่ต้องแสดงเอกสารฉีดวัคซีน ไม่ต้องแสดงผลตรวจ ATK  ปรับมาตรการติดโควิดไร้อาการไม่ต้องกักตัว

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 สรุปว่า ที่ประชุมมี มติเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ

1.เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิดรองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ต.ค. 65–ก.ย.66) โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค  ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์และข้อมูลสารสนเทศ และด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไปก่อนส่งให้ทุกจังหวัดดำเนินการต่อไป หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจประกาศพื้นที่โรคระบาดตามความจำเป็น

2.เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิดรองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง กรณีเข้าประเทศ ให้ยกเลิกการแสดงเอกสารการฉีดวัคซีน หรือผลการตรวจ ATK โรคโควิดที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิดและปรับมาตรการแยกกักผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการน้อยให้ปฏิบัติมีการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการ (DMHT) อย่างเคร่งครัด 5 วัน โดยไม่ต้องกักตัว และหน่วยงานต่างๆ ใช้หลักโควิด ฟรีเซตติ้ง เริ่ม 1 ต.ค.65

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบแผนบริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิดในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการได้กลางต.ค.2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว และรับทราบแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ในเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น และรับทราบแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อโควิดในรพ. หลังการระบาดใหญ่ ซึ่งสธ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงการแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป 

“สถานการณ์โรคโควิดมีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีนโควิด 19 ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามขอให้กลุ่มเสี่ยง 608 มารับวัคซีนให้ครบเพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด” นายอนุทิน กล่าว