อย.เตรียมออกประกาศคุมน้ำมันเติมไฮโดรเจน

2018-01-19 11:30:49

อย.เตรียมออกประกาศคุมน้ำมันเติมไฮโดรเจน

Advertisement

อย. เตรียมออกประกาศห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในผลิตภัณฑ์อาหาร มิ.ย. นี้ ชี้เป็นแหล่งของกรดไขมันทรานส์ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวม โคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่มีบางประเทศประกาศห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในการผลิตอาหาร ซึ่งน้ำมันดังกล่าวเป็นแหล่งของกรดไขมันทรานส์ ทำให้หลายภาคส่วนออกมาแสดงความห่วงใยถึงความปลอดภัยในการบริโภคอาหารนั้น อย. ได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยไขมันทรานส์เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง นม เนย ชีส และเนื้อสัตว์ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งจะพบไขมันทรานส์ได้ในอาหารสำเร็จรูปที่มีเนยเทียม หรือเนยขาวเป็นส่วนประกอบ เช่น โดนัททอด เค้ก คุกกี้ แครกเกอร์ ทั้งนี้ อันตรายจากไขมันทรานส์ คือ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวม โคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผลให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดดีลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)แนะนำปริมาณสูงสุดของการบริโภคไขมันอิ่มตัวไว้ที่ 10% ของค่าพลังงานต่อวัน หรือ 20 กรัมต่อวัน และปริมาณสูงสุดสำหรับไขมันทรานส์ไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน

นพ.พูลลาภ กล่าวต่อว่า อย. ได้ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาและสำรวจปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารมาตั้งแต่ปี 2559 โดยได้ข้อสรุปว่า ผู้ผลิตน้ำมันและไขมันสามารถใช้กระบวนการผสมน้ำมันแทนการใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นไขมันทรานส์ได้ และผู้ผลิตอาหารสามารถปรับสูตรผลิตภัณฑ์ได้ แต่ขอระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค อย. จึงได้จัดทำ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2560 เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) โดยห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ในผลิตภัณฑ์อาหาร ยกเว้นการใช้ผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอข้อคิดเห็นจากองค์การการค้าโลก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลำดับต่อไปจะได้นำเสนอคณะกรรมการอาหารพิจารณาให้ความเห็นชอบออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณเดือน มิ.ย.2561