"สุทิน"ระบุญัตติชงประชามติแก้ รธน. ยังไม่ตกไป ต้องโหวตใหม่สมัยประชุมหน้า
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 65 นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่พิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภามีมติให้การออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีปัญหาว่าจำนวนผู้มาลงมติไม่ครบองค์ประชุม คือ 229 คนนั้นว่า เรื่องดังกล่าวได้ทำความเข้าใจแล้วว่า เมื่อการผู้ลงมติไม่ครบองค์ประชุมให้ถือว่าต้องปิดการประชุม แต่ญัตติดังกล่าวไม่ตกไป ต้องกลับมาลงมติใหม่อีกครั้งในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมหน้า คือ เดือนพ.ย.นี้ อย่างไรก็ดีจากการประชุมที่พบว่ามีปัญหา และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ระบุว่าญัตติผ่านแล้ว แต่ตนมองว่า จะมีปัญหาเหมือนอย่างสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกวินิจฉัยว่าการลงมติร่างกฎหมายที่ไม่ครบองค์ประชุมนั้นต้องตกไปแม้ผ่านไปจะมีปัญหาและถูกตีความให้ตกไป ดังนั้นไม่รับดีกว่า ตั้งหลักใหม่ ซึ่งประธานที่ประชุมกลับคำวินิจฉัย คือให้ ประชุมล่มไปก่อน แล้วมาโหวตกันใหม่ แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้คุยกับวิปฝ่ายค้าน เพราะเชื่อว่าจะเห็นตรงกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและโหวตใหม่อีกครั้งดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงมติต่อญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอครม.ดำเนินการตามที่สภามีมติให้การออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ ส.ส.ก้าวไกลและส.ส.เพื่อไทย เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ซึ่งผลการลงมติ พบว่ามีผู้ลงมติ 229 คน เห็นด้วย 217 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง นั้น ซึ่งผู้ลงมตินั้นไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องใช้ 236 เสียง
สำหรับการลงมติดังกล่าวพบว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ส.ส.พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคชาติพัฒนาคือ เสียงส่วนใหญ่ที่ลงมติเห็นด้วย ขณะที่พรรคอื่นๆ นั้นพบว่าเข้าร่วมการประชุมและลงมติจำนวนน้อยจนผิดสังเกต โดย พรรคพลังประชารัฐ มาลงมติ 15 คน จากจำนวน ส.ส. ที่มี 97 คน โดย 10 คน ลงมติเห็นด้วย คือ นายจักรัตน์ พั้วช่วย พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา นายนัทธี ถิ่นสาคู นายนิพนธ์ ศิริธร นายปริยญา ฤกษ์หร่าย นายพิเชษฐ สถิรชวาล นายต่อศักดิ์ อัศวเหม พล.อ.สมชาย วิษณุวงษ์ นายสุทา ประทีป ณ ถลาง นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร ขณะที่ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี นั้นลงมติไม่เห็นด้วย และอีก 4 คน คือ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ น.ส.ภาดาห์ วรกานนท์ นายชวน ชูจันทร์ นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ งดออกเสียง
พรรคภูมิใจไทย มาลงมติ 3 คน จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 62 คน โดย 2 เสียง คือ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และ นายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น ลงมติเห็นด้วย ขณะที่นายศุภชัย รองประธานฯ งดออกเสียง พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติ 26 คน จากส.ส.ทั้งหมด 52 คน โดยส่วนใหญ่ เห็นด้วย ยกเว้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ที่งดออกเสียยง
พรรคเศรษฐกิจไทย ลงมติ 3 คน โดยออกเสียงเห็นด้วย จากส.ส.ที่มี 16 คน พรรคชาติไทยพัฒนา ลงมติ 5 คนโหวตเห็นด้วย จากส.ส.ที่มี 12 คน ขณะที่พรรครวมพลัง มีส.ส. 4 คนที่มาลงมติ โดยออกเสียงไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับ นายยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่ลงมติไม่เห็นด้วย