รมว.แรงงานชง ครม. 13 ก.ย. ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แจงบอร์ด สปส. ถกลดเงินสมทบ 2 %ช่วยนายจ้างไม่กระทบกองทุน
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 65 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ตนจะเสนอการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 อัตราสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท ต่ำสุด 328 บาท เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแน่นอน และจะมีผลบังคับในวันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการเยียวยานายจ้างนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างการพิจารณาในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด ประกันสังคม) เรื่องการช่วยเหลือโดยการลดเงินสมทบประมาณ 2 % เป็นเวลา 3 เดือน หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ คิดว่านายจ้างจะสามารถยอมรับได้ เพราะก่อนหน้านี้ทางเราก็เคยมีมาตรการช่วยเหลือ SME ในช่วงโควิด ตรึงการจ้างงานลูกจ้างหัวละ 3 พันบาท ตีเป็นเงิน กว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นการช่วยนายจ้างประคับประคองกันไปรอบหนึ่งแล้ว
เมื่อถามว่าคาดประมาณการณ์การลดเงินสมทบตรงนี้คิดเป็นเงินเท่าไหร่ นายสุชาติ กล่าวว่า เงินกองทุนก็จะหายไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็จะไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เมื่อถามย้ำว่าในส่วนของผู้แทนผู้ประกันตนได้มีการหารือร่วมกันหรือไม่ เนื่องจากโควิดที่ผ่านมามีการช่วยเหลือโดยการลดเงินสมทบไปเยอะแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการลดเพื่อช่วยเหลือนายจ้างโดยตรง จะกระทบกับเงินกองทุนในอนาคตหรือไม่ โดยเฉพาะกองทุนชราภาพ นายสุชาติ กล่าวว่า เราไม่ได้ลดนายจ้างฝ่ายเดียว แต่ละให้กับลูกจ้างด้วย ซึ่งไม่มีผลกระทบกับกองทุน เพราะเคยคำนวนตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้ดูแล้ว แค่ว่าวันนี้เราเก็บเงิน จากแทนที่เก็บได้แล้วจะเอาไปลงทุน ก็จะหายไปในส่วนของกำไร ดอกผลประมาณร้อยล้านบาท แต่ที่ผ่านมา เราได้ดอกผลปีละกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท ก็มาช่วยเหลือตรงนี้ได้ จริงๆ เรื่องเงินชราภาพนั้นมองกันคนละมุม คนมองว่าการลดเงินสมทบลงแล้วจะทำให้เงินชราภาพลดลงนั้น จริงๆ ไม่ลดลง คำนวณแล้ว ให้คณิตศาสตร์ประกันภัยคำนวณไว้หมดแล้ว