ถกเครียด 7 ชม.ปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัด 5 -22 บาท

2018-01-18 00:20:09

ถกเครียด 7 ชม.ปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัด 5 -22 บาท

Advertisement

ถกเครียดเกือบ 7 ชม. เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด 7 อัตรา ตั้งแต่ 5-22 บาท ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต ค่าจ้างสูงสุด กทม.และปริมณฑลปรับขึ้น 15 บาท 3 จังหวัดชายแดนได้ค่าแรงต่ำสุด ปลัดกระทรวงแรงงานเผยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสามารถใช้ค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า


เมื่อเวลา 22.45 น.วันที่ 17 ม.ค.ที่กระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ให้สัมภาษณ์ถึงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากใช้เวลาในการหารือกันนานกว่า 6 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 16.00 น.ว่า ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่ 5-22 บาท แบ่งเป็น 7 อัตรา ดังนี้

อัตรา 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา (จากเดิมวันละ 300 บาท)

อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช และมหาสารคาม


อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณื ชัยนาท เลย ยะโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง

อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี


อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา

อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา (จากเดิมค่าจ้างอยู่ที่ 310 บาท)

อัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง




ค่าเฉลี่ยการปรับค่าจ้างปี 2561 อยู่ที่ 315.97 บาท ทั้งในวันที่ 18 ม.ค.จะสรุปเสนอรมว.แรงเพื่อลงนาม เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป โดยที่ประชุมขอให้ค่าจ้างอัตราใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2561

นายจรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถใช้ค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และในส่วนของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป ให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน ว่าแต่ละปีจะมีการปรับขึ้นเท่าไหร่ เป็นการรับประกันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปี ส่วนกระทรวงแรงงานก็จะต้องไปแก้กฎหมาบรองรับต่อไป นอกจากนี้ยังนำร่องผู้ประกอบการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นำร่องค่าจ้างลอยตัว