77 ส.ว.เข้าชื่อส่งศาล รธน.ตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองปมค่าสมาชิก ลักษณะต้องห้าม ไพรมารีโหวต
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65ที่รัฐสภา นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า วันนี้ เวลา 10.30 น. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นตัวแทนของสมาชิกรัฐสภา จำนวน 77 คน ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง(ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสืบเนื่องจากร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา เมื่อรัฐสภาผ่านความเห็นชอบแล้วตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) รัฐสภาจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ความเห็น โดยทางรัฐสภาได้ส่งเรื่องไปให้ กกต. เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ต่อมา กกต.ได้ให้ความเห็นกลับมายังรัฐสภา ในวันที่ 16 ส.ค. มีมติไม่มีข้อทักท้วง แต่ตามข้อบังคับรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 104 บัญญัติไว้ว่า ให้ประธานรัฐสภาชะลอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไว้ 3 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ หรือจำนวน 73 คน เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และขอให้ประธานรัฐสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ในการลงชื่อครั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อจำนวน 77 คน จึงเป็นไปตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า ในคำร้องดังกล่าวมีประเด็นใดบ้าง นายสมบูรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นเท่าที่ดูเอกสารมีนับ 10 ประเด็น ซึ่งจะมีการตรวจสอบทั้งรายชื่อและรายละเอียดต่อไป ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ทางประธานรัฐสภา กำลังเร่งตรวจสอบความถูกต้องเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรัยบคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ และส.ว.รวม 77 คนระบุว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีหลายประเด็นที่อาจ ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติในมาตราต่างๆที่เกี่ยวข้อง
1.เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาทและมีการแก้ไขว่าเรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมืองปีละไม่น้อยกว่า 20 บาท และการเก็บค่าสมาชิกแบบตลอดชีพจากเดิมต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาทโดยมีการแก้ไขให้เรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 บาทซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการแก้ไขลดค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพักรายปีนั้นจะทำให้สภาพของพรรคการเมืองต่างๆ กลับไปสู่สภาพเดิมที่เคยปรากฏและดำรงอยู่คือการจ้างคนเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยการออกเงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค ซึ่งเปิดช่องให้กลุ่มทุนครบงำพรรคการเมืองได้ง่ายและนำไปสู่การทำลายความหวังที่จะนำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองของประชาชน
2.เรื่องการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคการเมือง ที่มีการแก้ไขมาตรา 98 (10) กำหนดให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุกว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการบวนการยุติธรรมหรือกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเดิมจะไม่มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่มีการปรับแก้หากไม่ถึงขั้นถูกจำคุก ให้เข้าสมัครสมาชิกพรรคได้ และสามารถสมัครรับเลือกตั้งได้
3.เรื่องการกำหนดตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ที่มีการแก้ไขว่า ในจังหวัดใดที่ไม่ได้ตั้งเป็นสาขาพรรคการเมือง หากมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกิน 100 คนพรรคอาจตั้งสมาชิกที่มาจากการเลือกของสมาชิกให้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ ตามจำนวนที่เห็นสมควร ซึ่งอาจทำให้สมาชิกที่จะร่วมคัดเลือก ส.ส. ที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งมีสิทธิ์ไปคัดเลือกในพื้นที่ที่ตนไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาจะเป็นการย้อนแย้ง กลับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
4.เรื่องการตัดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ส.ส.จากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้นออกไป แต่เปิดให้มีเพียงสาขา พรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้น ก็สามารถ ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ได้ เรื่องการแก้ให้การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกและให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมาโดยที่ประชุมสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกผู้สมัคร
5.การแก้ไข พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สืบเนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 83 ,86,91 เรื่องจำนวน ส.ส.500 คน เป็น ส.ส.เขต 400 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน การคำนวณ ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและเขตเลือกตั้ง และการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าในร่างกฎหมายพรรคการเมืองมีการแก้ไขเกินกว่าประเด็นที่มีการแก้รัฐธรรมนูญไว้ 3 มาตรา และจากหนังสือของ กกต. เรื่องความเห็นต่อร่างกฎหมายพรรคการเมืองแม้จะมีมติไม่มีความเห็นแย้งแต่พบว่ามี กกต.เสียงข้างน้อย มีข้อทักท้วงร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระที่3 ในวันที่ 26 ก.ค. จากนั้นส่งให้ กกต. พิจารณาทำความเห็น และสรุปว่า กกต. ไม่มีความเห็นแย้งใดและส่งร่างกลับมายังรัฐสภา