มาทำความรู้จัก "ไวรัสมาร์เบิร์ก"

2022-08-08 10:21:09

มาทำความรู้จัก "ไวรัสมาร์เบิร์ก"

Advertisement

มาทำความรู้จัก "ไวรัสมาร์เบิร์ก"

ไวรัสมาร์เบิร์กคืออะไร

ไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus disease; MVD) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดไข้และเลือดออก ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ตั้งชื่อตามเมืองมาร์เบิร์กในประเทศเยอรมนี โดยมีค้างคาวผลไม้ (fruit bat) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rousettus aegyptiacus ถือว่าเป็นสัตว์รังโรคของไวรัส และสัมผัสกับคนโดยการเข้าถ้ำไปขุดเหมืองที่มีค้างคาวผลไม้อยู่เป็นเวลานาน

ค้นพบครั้งแรกเมื่อใด

ไวรัสมาร์เบิร์ก ค้นพบในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) โดยมีการระบาดครั้งใหญ่ในเมืองมาร์เบิร์ก และแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รวมทั้ง เมืองเบลเกรด ในประเทศเซอร์เบีย ซึ่งขณะนั้นเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการที่ใช้ลิงเขียวแอฟริกาที่นำมาจากประเทศอูกันดา

มีอาการอย่างไร

ไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ผื่นไม่คัน สับสน หงุดหงิดง่าย จนถึงใช้ความรุนแรง จนต่อมาเลือดออกตามผิวหนังและอวัยวะต่าง ๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำหรือเป็นเลือด เลือดออกตามจมูก ปาก และช่องคลอด บางรายอาจมีการบวมอักเสบบริเวณอวัยวะเพศชาย จนถึงมีการความดันตกหรือภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วในช่วง 8-9 วันหลังจากมีอาการวันแรก

ขณะนี้ระบาดที่ไหน

สาธารณรัฐกานา (ประเทศกานา หรือ Republic of Ghana) ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา

โรคนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือไม่

โดยทั่วไปองค์การอนามัยโลกพบว่า อัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 24-88 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การตรวจวินิจฉัย และการรักษา ซึ่งการระบาดในขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

แพร่อย่างไร

โรคมาร์เบิร์กนี้แพร่จากสัตว์สู่คน โดยคนเข้าไปถ้ำที่เป็นแหล่งที่อยู่ของค้างคาวผลไม้ และต่อมาสามารถแพร่จากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัส เช่น ผิวหนังเปิดหรือเยื่อบุผิวหนัง รวมทั้งเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ที่มีเชื้อไวรัส ยังผ่านผิวสัมผัสหรือของที่ใช้ร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ในแอฟริกามักพบในงานศพ ที่พิธีกรรมมีการสัมผัสร่างของผู้เสียชีวิตด้วย

รักษาได้ไหม

ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะและพิสูจน์ได้ว่าลดอัตราการเสียชีวิต แต่มีการศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์ทางเลือด การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันและยา ที่กำลังดำเนินการอยู่

มีวัคซีนป้องกันไหม

ยังไม่มี แต่ยังอยู่ในการศึกษาค้นคว้า

มีโอกาสแพร่ระบาดทั่วโลกไหม

ขณะนี้โอกาสที่จะแพร่ระบาดทั่วโลกมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคอุบัติซ้ำที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตสูง มากกว่าโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษวานร

อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล