สภาฯไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน "ก้าวไกล" ซัดรัฐบาลคงกฎหมายเอาไว้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องอำนาจ
เมื่อวันที่ 4 ส.ค.65 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. .... ที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชี่รายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับคณะ เป็นผู้เสนอ วาระ 1 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และได้ส่งคืนสภาฯ ให้พิจารณา โดยการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปเพื่อแทนที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
นายโรม อภิปรายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ที่บังคับใช้อยู่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่บังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกมาโดยได้รับการละเว้นการตรวจสอบถ่วงดุล ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและครม. สามารถประกาศขยายระยะเวลาออกไปโดยไม่ถูกคัดค้าน ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นมาก คำถามคือ มีความจำเป็นที่ต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อทั้งทั้งสถานการณ์ตอนนี้ไม่ เหลือความฉุกเฉินอะไรอีกต่อไป หากพ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่เพียงพอทำไมไม่แก้ไขให้ครอบคลุม รัฐบาลมีเวลาเตรียมเรื่องนี้มาอย่างเนิ่นนาน แต่ไม่ทำ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีความจริงใจแก้ไขโควิด-19 สิ่งที่ต้องทำในช่วงการแพร่ระบาด คือการสนับสนุนการฉีดวัคซีน และการตรวจคัดกรองอย่างจริงจัง ดังนั้น การยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรัฐบาลเสพติดอำนาจ จึงยังคงกฎหมายพิเศษฉบับนี้เอาไว้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า จากสรุปรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยความมั่นคงที่เกี่ยวข้องที่ครม. แนบมาด้วย คือกฎหมายฉบับนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติงาน ตนสงสัยว่า การใช้กฎหมายปกติ มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้เจ้าหน้าที่ถึงกับหมดความมั่นใจในการทำงานเลยหรือ การที่มีความมั่นใจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงทำให้สถิติการตั้งข้อหากับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,400 คน ทั้งที่เกิดการแพร่ระบาดจากการชุมนุมมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปูพรมหว่านแหได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ตนเสนอผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการทวงคืนการตรวจสอบถ่วงดุลกลับคืนมา ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทุกคนมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้คิดหาเศษหาเลยจากอำนาจที่ได้เพิ่มมา ไม่ได้เป็นพวกที่อยากคงอำนาจล้นเกินไว้เพื่อจะได้ดีดนิ้วได้ตามสะดวก ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหวาดกลัวร่างกฎหมายฉบับนี้
ด้านนางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯฉบับปัจจุบัน เป็น 1 ใน 3 กฎหมายที่ค้ำยันระบอบประยุทธ์ อีก 2 กฎหมายคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 ทั้งนี้ รัฐบาลได้อาศัยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 19 ที่จะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.65 ซึ่งตนแน่ใจว่าจะต่อไปเรื่อยๆ จนหมดอายุรัฐบาลนี้ ความจริง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ถูกนำมาอ้างในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งๆ ที่มีพ.ร.ก.โรคติดต่อฯ ซึ่งสามารถนำมาแก้บางมาตราก็สามารถนำใช้ได้แล้ว
นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กลไกตามร่าง พ.ร.บ. นี้ มีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของสถานการณ์ฉุกเฉิน และเห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบันมีความเหมาะสม และเป็นธรรมอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีมาตรการทางกฎหมายที่เบากว่ากฎหมายต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงกังวลต่อการแก้ไข เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีความรวดเร็วในการทำให้สถานการณ์คลี่คลายเพื่อไม่ให้กระทบต่อการรักษาประโยชน์ของประเทศ ฉะนั้น จึงเห็นว่ายังไม่ควรรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและเห็นควรบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ต่อไป
ท้ายที่สุดที่ประชุมลงมติไม่รับหลักการด้วยคะแนน 169 ต่อ 69 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ซึ่งกว่าจะลงมติได้ ใช้เวลารอสมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุมกว่า 20 นาที จนในที่สุดครบองค์ประชุม 240 เสียง ซึ่งเกินครึ่งมาเพียง 1 เสียง จากนั้นนายสุชาติ ประธานในที่ประชุม ได้สั่งปิดการประชุมใน เวลา 16.41 น.