นายกฯ เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีแนวโน้มทิศทางที่ดี คาดขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 ในปี 65 และร้อยละ 4.2 ในปี 66
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.ได้รับทราบการรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจมหาภาคของประเทศมีแนวโน้มทิศทางที่ดีแต่ยังต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องรวมไปถึงการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2565 และร้อยละ 4.2 ในปี 2566 ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและกำลังซื้อของกลุ่มรายได้สูง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศดีกว่าที่คาดการณ์
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาเศรษฐกิจระดับจุลภาคของประเทศ โดยเฉพาะค่าครองชีพประชาชน ซึ่งประชาชนยังมีรายได้น้อยอยู่ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องค่าครองชีพประชาชนและธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง ตลอดจนผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยเร่งด่วนและการจะหามาตรการในการดูแลช่วยเหลือต่อไป
นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามผลการดำเนินงานนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งเรื่องนโยบายเร่งด่วน เช่น การลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรมากกว่า 1 หมื่นราย การประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 29 ล้านไร่ การส่งเสริมการลงทุนใน EEC ซึ่งขณะนี้มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 183 โครงการ มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีนโยบายระยะยาว เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การริเริ่มโครงรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่ นโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ อาทิ การผลิตทุเรียนนนท์ที่มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกมากว่า 2,000 ไร่ การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 0"ชัยภูมิ เป็นต้น ทั้งนี้ผลการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าวมีความกว้าหน้าโดยลำดับเกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายโครงการกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งนายกรัฐมนตรีและ ครม.จะได้มีการลงพื้นที่ติดตามอย่างต่อเนื่องใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อติดขัดต่าง ๆ ให้โครงการสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการปรับแผนงานและโครงการให้เหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 ด้วย