ตรวจพบโอมิครอนพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ จ.ตรัง

2022-07-21 15:50:12

ตรวจพบโอมิครอนพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ จ.ตรัง

Advertisement

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ จ.ตรัง รักษาหายแล้ว คนใกล้ชิดไม่ติดเชื้อเพิ่ม ขี้เป็นคนอ้วน มีโรคประจำตัว แต่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ช่วยอาการไม่รุนแรง 

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด- 19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่ จ.ตรัง ว่า เป็นการตรวจตามระบบเฝ้าระวังป้องกันสายพันธุ์ตามปกติของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้ ไม่ได้พบว่ามีความผิดปกติอะไร แต่เป็นรอบการสุ่มตรวจสายพันธุ์ตามปกติ โดยทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อตรวจเบื้องต้นแล้วพบว่าไม่เข้ากับสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 ที่มีในไทยจึงต้องส่งถอดพันธุกรรมทั้งตัว ก็พบว่าเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 จึงได้รายงานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อสำการสอบสวนโรคต่อไป พร้อมทั้งรายงานไปยังฐานข้อมูล GISAD เพราะสายพันธุ์ดังกล่าว ทางองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ส่วนอาการของผู้ติดโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ที่จังหวัดตรัง 1 รายนั้น ยังไม่มีอาการที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นๆ

เมื่อถามถึงรายละเอียดสายพันธุ์ BA.2.75 มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 มีแนวโน้มจะมาทดแทนหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก เพราะในประเทศอินเดียซึ่งมีการระบาดของสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวนมากนั้น เป็นเพราะที่อินเดียไม่มี สายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 มากนักจึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ BA.2.75 ระบาดมากก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอีกสักระยะ และระยะนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ไปรับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรง ลดความเสี่ยงการเสียชีวิต

ด้าน นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวติดเชื้อรายดังกล่าวตรวจพบและเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในวันที่ตรวจเจอการติดเชื้อด้วย ATK นั้นไม่มีอาการอะไรมาก แค่เจ็บคอ ไอ ไม่มีปอดอักเสบ ตรวจสอบประวัติพบว่ามีโรคประจำตัวคือโรคภูมิแพ้ โรคอ้วน ได้รับยารักษาตามอาการ มีประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 3 เข็ม ซึ่งอาการที่ปรากฏนั้นเป็นอยู่ 2-3 วันก็หาย แต่ก็ให้ดูแลตัวเองที่บ้านจนครบกำหนดตามเกณฑ์ ทั้งนี้คิดว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนเรื่องการสอบสวนโรคนั้น คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ทั้งหมด 4 ราย ไม่มีใครติดเชื้อแต่อย่างใด ดังนั้นชาวตรังไม่ต้องกังวล

นพ.ชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดตรัง มีรายงานเข้าระบบวันละราย สองราย ไม่มาก สำหรับยารักษาโรคในพื้นที่ซึ่งมีอยู่หลายตัว บางตัวอาจจะพร่องไปบ้าง แต่ระบบบริหารจัดการภายในจังหวัด และระบบการขนส่งทำให้สามารถบริหารจัดการยาในพื้นที่ได้ แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือเรื่องของการฉีดวัคซีนคือสิ่งสำคัญมากที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อ ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้การฉีดวัคซีนในพื้นที่ตรังเข็ม 1 เข็ม 2 ถือว่าดีมาก ครอบคลุมประมาณ 80% แต่เข็มกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 ยังน้อย ซึ่งภาพรวมของประเทศมีการฉีดเข็มกระตุ้นราวๆ 40-50% แต่ในพื้นที่ตรังมีความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 21-22% เท่านั้น ที่น่าห่วงคือกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นน้อย ครอบคลุมเพียง 16% เท่านั้น ดังนั้น มาตรการกระตุ้นการฉีดวัคซีนในพื้นที่ โดยมอบอสม.เคาะประตูบ้านชวนคนมาฉีด แต่ก็ยังกระตุ้นได้ไม่มาก ตอนนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรังมีนโยบายให้รณรงค์ เชิญชวนในคลินิกเฉพาะกลุ่มโรค ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุก็ได้ประสานไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.)และท้องถิ่น ซึ่งดูแลสวัสดิการด้านอื่นๆ และมีข้อมูลผู้สูงอายุอยู่ ขอให้รณรงค์เชิญชวนผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน และประสานไปยังสถานศึกษา และอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้สำรวจและจัดทำแผนการฉีดวัคซีนเข้ามาซึ่งทางเราพร้อมสนับสนุนวัคซีนซึ่งมีทุกชนิด และจัดส่งบุคลากรการแพทย์ไปฉีดวัคซีนให้.