ครม. เตรียมพิจารณาแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาข่มขืน

2022-07-15 22:14:39

ครม. เตรียมพิจารณาแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาข่มขืน

Advertisement

ครม. เตรียมพิจารณาแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาข่มขืน คุกคามทางเพศ

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.65 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาการละเมิดและคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไขและบูรณาการความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว โดยจากนี้จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป สำหรับแผนปฏิบัติการฯ แบ่งการดำเนินงาน 3 ส่วน ได้แก่ 1.ปรับความรู้และทัศนคติของสังคม โดยมีเป้าหมาย อาทิ สร้างกลไกการป้องกันและเฝ้าระวังความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ ปรับระบบความคิดที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา/ล่วงละเมิดทางเพศ และลดมายาคติของสังคม สร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย 2.ปรับปรุงระบบงานเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยมีเป้าหมาย อาทิ ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพ เข้าถึงบริการที่เป็นมิตรและเป็นธรรม ปรับพฤติกรรมผู้กระทำความผิดและป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และ 3.ปรับมาตรการทางวินัย กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยมีเป้าหมาย อาทิ ปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับเพศ ปรับกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพผู้เสียหายให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรการให้สามารถลงโทษทางวินัยร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล่วงละเมิดทางเพศ

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า มากไปกว่านั้น ในปี 2563 รัฐบาลได้ออก 12 มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์เสนอ ประกอบด้วย มาตรการ อาทิ 1.หน่วยงานต้องมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร โดยประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรรับทราบอย่างทั่วถึง 2.หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วม 3.หน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ และกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ 4.หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดฯ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในองค์กร 5. หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน และต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง

“รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการละเมิดและคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมที่ฝังรากลึกมานาน ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการและขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วน องค์กรต่างๆต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะ 12 มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานที่รัฐบาลเห็นชอบไปแล้วนั้น นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้จัดการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเคร่งครัด มีมาตรฐาน จัดการกับผู้กระทำผิดให้เข็ดหลาบ รวมถึงเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว” น.ส.รัชดา กล่าว