โฆษกรัฐบาลเผย "การบินไทย"อาจออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนด

2022-07-12 21:33:02

โฆษกรัฐบาลเผย "การบินไทย"อาจออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนด

Advertisement

ครม. รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา "การบินไทย"คาดอาจสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนดภายในปี 67 หรือต้นปี 68

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการ ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คาดจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในปี 2567 คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การหารายได้จากการขนส่ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีรายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงเดือนมิ.ย.2565 มีส่วนแบ่งจำนวนผู้โดยสารคิดเป็นร้อยละ 33 ของจำนวนผู้โดยสารของทุกสายการบิน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของปี 2562 โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 12,654 คนต่อวัน และผู้โดยสารของสายการบินไทยสมายล์สูงกว่า 12,000 คนต่อวันรวมทั้ง ยังมีรายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 2,057 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44

2. การปรับลดขนาดองค์กรและต้นทุนบุคลากร ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลดลงจาก 29,400 ล้านบาทต่อปี เหลือ 7,920 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนที่ลดลงประมาณร้อยละ 73

3. การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยาน โดยปรับลดจำนวนแบบอากาศยานในฝูงบินจาก 9 แบบ เป็น 4 แบบ ลดต้นทุนด้านอากาศยานลง 8,500 ล้านบาทต่อปี

4. จำหน่ายอากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนปฏิบัติการบินของ บกท. ประกอบด้วย อากาศยานแบบโบอิ้ง 737-400 จำนวน 11 ลำ อากาศยานแบบแอร์บัส 340 - 500 จำนวน 1 ลำ แบบแอร์บัส 340 -600 อีก 4 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างรอการจำหน่ายจำนวน 18 ลำ

5. การปรับลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนลง 4,500 ล้านบาทต่อปี

6. การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินรอง ตั้งแต่เข้าสู่ กระบวนการฟื้นฟูกิจการรวมจำนวน 9,258 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  ยังมีทรัพย์สินรองที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจำหน่าย ได้แก่ เครื่องบินฝึกจำลองที่ไม่อยู่ในแผนดำเนินงาน อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ยังมีการหาประโยชน์โดยการให้เช่าพื้นที่สำนักงานใหญ่ ในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานสำหรับการให้บุคคลภายนอกเช่า

7. การติดตามหนี้สินที่เกินกำหนดชำระจากลูกหนี้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กองบินตำรวจ กองทัพอากาศ เป็นต้น โดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเงินสดสุทธิ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2565 ประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 ทำให้ในขณะนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีความจำเป็น ต้องจัดหาสินเชื่อใหม่ตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 และคาดว่าจะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขในเดือนก.ย. 2565

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวต่อว่า  ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อาจทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนดภายในปี 2567 หรือต้นปี 2568 โดย ขึ้นอยู่กับการปรับแผนฟื้นฟูที่มีสาระสำคัญ คือ การแปลงหนี้เป็นทุน และนับตั้งแต่การเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทำให้การประกอบของ บกท. ดีขึ้นตามลำดับ สามารถทำการบินในเส้นทางต่างๆ ทำให้มีรายได้และสภาพคล่องมากขึ้น สามารถลดวงเงินกู้ตามแผนจากเดิมที่ตั้งไว้ประมาณ 5 หมื่นล้าน โดยจะกู้จริงไม่เกิน 1.25 หมื่นล้าน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ ขณะเดียวกันผู้ที่ซื้อตั๋วโดยสารค้างไว้ ยังไม่ได้เดินทาง ก็สามารถใช้สิทธิบินตามตั๋วได้ รวมทั้งการสะสมไมล์ Royal Orchid Plus สะสมไมล์ ยังสามารถแลกเป็นตั๋วเครื่องบินตามสิทธิ์เช่นเดิม