ฉางซา, 9 ก.ค. (ซินหัว) — คณะนักโบราณคดีค้นพบหลุมศพ 14 หลุม จากยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ปี 25-220) และราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) ในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน
สถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีหูหนาน ระบุว่าคณะนักโบราณคดีได้ขุดค้นหลุมศพ 8 หลุม และพบโบราณวัตถุกว่า 130 ชิ้น ซึ่งรวมถึงเครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายคราม และเครื่องสัมฤทธิ์ ณ สุสานแห่งหนึ่งในเมืองเหล่ยหยาง
เฉินปิน หัวหน้าทีมโบราณคดีของสุสานแห่งนี้ กล่าวว่าหลุมศพยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก 6 หลุม ถูกสร้างจากอิฐ โดย 3 หลุมอาจมีเจ้าของมาจากครอบครัวเดียวกัน
คณะนักโบราณคดียังค้นพบคูดินที่ตั้งไกล 4.5 เมตร ทางตะวันตกของห้องด้านหลังหลุมศพขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งกว้างราว 0.9 เมตร ยาวเกือบ 15 เมตร และลึกราว 0.1 เมตร
เฉินกล่าวว่าคูดินนี้อาจเป็นเส้นแบ่งเขตสุสานของครอบครัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุสานนี้มีลักษณะเป็นอาณาเขตชัดเจนในเวลานั้น
ทั้งนี้ เฉินทิ้งท้ายว่าการขุดค้นครั้งนี้มีนัยสำคัญต่อความเข้าใจธรรมเนียมพิธีศพในหูหนานตอนใต้ รวมถึงระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว
(ภาพจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีหูหนาน : ต่างหูหินอาเกตจากหลุมศพหมายเลข 8)
(ภาพจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีหูหนาน : อิฐจารึกปีหย่งเหอที่ 9 จากหลุมศพหมายเลข 7)
(ภาพจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีหูหนาน : โบราณวัตถุจากหลุมศพหมายเลข 9)