กมธ.เผยพิจารณางบเตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก

2022-07-07 21:30:22

 กมธ.เผยพิจารณางบเตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก

Advertisement

กมธ.เผยพิจารณางบประมาณเตรียมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2034

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.65 ที่รัฐสภา นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  และนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย  ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร่วมกันแถลงความคืบหน้า โดยนางกรณิศ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเฉพาะงบของกรมพลศึกษา เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2034 ของประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะท่าทีของประเทศไทยในการเตรียมพร้อมสนามฟุตบอล เพราะสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ( ฟีฟ่า) กำหนด ว่า เจ้าภาพการแข่งขันต้องมีสนามฟุตบอลอย่างน้อย 16 สนาม และมีความจุได้ 40,000 คนขึ้นไป และต้องมีสนามบินที่ใหญ่เพียงพอ แต่ประเทศไทยมีเพียงสนามราชมังคลากีฬาสถานแห่งเดียวที่มีความจุเกิน 40,000 คน และสนามบินที่ผ่านเกณฑ์ของฟีฟ่า มีเพียงสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองเท่านั้น จึงอยากทราบว่า ไทยจะเดินหน้าร่วมกับอาเซียนเพื่อเป็นเจ้าภาพหรือไม่

นางกรณิศ กล่าวต่อว่า ด้านอธิบดีกรมพลศึกษา ได้ชี้แจงว่า ได้เชิญผู้แทนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และแนวทางในการเสนอตัวการเป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งมีความเห็นว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียนในการเดินทางที่สะดวก ไม่มีปัญหาในการขอวีซ่าเข้าประเทศของคณะนักกีฬา และผู้ชมจากทั่วโลก และยังมีศักยภาพความพร้อมทั้งด้านที่พัก การคมนาคม ส่วนสนามกีฬา คณะทำงานได้ศึกษา และจัดทำแนวทางเตรียมความพร้อมด้านสนามแข่งขันของไทย ไว้ดังนี้ สนามแข่งขันขนาด 80,000 ที่นั่งมี 2 ทางเลือก คือแผนการสร้างศูนย์กีฬา EEC ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จังหวัดชลบุรี หรือ สถานที่ตั้งใหม่ของกรมพลศึกษาที่จ.สมุทรปราการ หรือปรับปรุงและเพิ่มจำนวนที่นั่งของสนามแข่งขันในปัจจุบันให้ได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ที่นั่ง

นางกรณิศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้พิจารณางบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สังกัดกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาหญิงไทยถูกหลอกไปค้าบริการทางเพศที่ต่างประเทศ โดยผู้แทนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงว่า หญิงไทยที่เดินทางไปต่างประเทศมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไปทำงานโดยไม่คิดว่าจะไปค้าประเวณี กับ กลุ่มที่สมัครใจค้าประเวณี ซึ่งหน่วยงานจะต้องเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในกลุ่มที่ไม่ได้สมัครใจทำงาน แต่ถูกบังคับให้ค้าประเวณีและถูกยึดพาสสปอร์ต ผ่านความร่วมมือกับเครือข่าย ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่น ยังมีแอปพลิเคชันที่สามารถขอความช่วยเหลือได้