สอท.ออกแถลงการณ์ 4 ข้อรับมือโควิด-19 แนะ สธ. ทำพีอาร์เชิงรุก กระตุ้นฉีดวัคซีน เปิดรายละเอียดฉีดวัคซีน
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคสร้างอนาคตไทย(สอท.) ออกแถลงการณ์ เสนอ 4 มาตรการ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยและทั่วโลก มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น หลังผ่อนคลายมาตรการ โดยกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่ามีการติดตามประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการรองรับไว้เป็นอย่างดี พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สอท.ขอเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.สถานการณ์โควิด-19 ที่แย่ลง และพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชน กลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนแต่ไม่ครบ คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 12.7 ล้านคน มีอัตราการรับวัคซีนเข็มที่ 3 เฉลี่ยร้อยละ 47 โดยรับเข็มแรก ร้อยละ 84.5 เข็มที่สอง ร้อยละ 80.5 แสดงว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยง เฉพาะที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ยังไม่ได้รับวัคซีน ประมาณ 2 ล้านคน และ 6.7 ล้านคน ไม่เคยได้รับหรือรับไม่ครบตามคำแนะนำ ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงของโรคโควิด 19 หรือคาดว่าภูมิคุ้มกันหมู่ หรือภูมิคุ้มกันชุมชนจากการฉีดวัคซีนโรคโควิด 19 มีประสิทธิผลน้อยในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบ มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิต
2.การให้วัคซีนเป็นมาตรการสำคัญ แต่การได้รับวัคซีนของประชาชน ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นทั้งที่รณรงค์ถึงความสำคัญมาตลอดสะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์หรือการให้คำแนะนำที่ผ่านมา ยังไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ และควรยกระดับการรณรงค์และติดตามผลการให้วัคซีนอย่างจริงจัง ใช้มาตรการเชิงคุณภาพในการประชาสัมพันธ์ และสื่อสารให้มากขึ้น เพราะการยอมรับวัคซีนของประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกันทั้งความรู้ ทัศนคติ และความเชื่อ
3.เพื่อให้การติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดจนการออกมาตรการรับมือได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขแสดงข้อมูลการได้รับวัคซีนจำแนกตามกลุ่มอายุ กลุ่มโรคเสี่ยง โดยแสดงรายละเอียดลงลึกเป็นรายจังหวัดและพื้นที่ย่อย เพราะการรับวัคซีนมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทั้งที่เป็นกลุ่มอายุหรือกลุ่มเสี่ยงประเภทเดียวกัน โดยให้มุ่งเน้นรณรงค์ตามพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ สามารถกระจายวัคซีนได้อย่างเหมาะสม
4.กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการ ในการควบคุมและป้องกันโรค หรือใช้ยารักษา ที่ประชาชนยอมรับ เพราะการใช้แนวคิดเชิงทฤษฎีระดับบุคคล โดยไม่มีข้อมูลสนับสนุนในทางปฏิบัติให้เห็น เช่น ส่งเสริมให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน หรือรับวัคซีนเข็มที่ 4 แทนที่จะมุ่งทุ่มเทสรรพกำลังไปกับการรณรงค์กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับ หรือรับวัคซีนไม่ครบ เป็นหลัก เพื่อผลในการควบคุมป้องกันโรคที่สูงกว่า ส่วนการลดจำนวนวันรักษา เป็น 5+5 วัน โดย 5 วันหลัง เป็นการสังเกตอาการ และสามารถออกไปข้างนอกได้ โดยที่ยังไม่มีข้อมูลผลกระทบเชิงสาธารณสุขที่ชัดเจนต่อการแพร่เชื้อของผู้ป่วย การใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เพื่อการรักษา ทั้งที่ผลการศึกษาในประเทศและนานาชาติพบว่ายานี้ไม่ได้ช่วยลดจำนวนไวรัส และประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศผู้ผลิตได้เลิกใช้ยานี้แล้ว เป็นต้น