มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ วันแรกคึกคัก ประชาชนต่อคิวรับแจกต้นกล้ากัญชา "อนุทินน" เผยรัฐบาลบรรจุแผนพัฒนายกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรตั้งเป้าโกยรายได้ 4.8 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติและการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยกัญชาไทย นวดไทย อาหารไทย” พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณและโล่รางวัลเชิดชูเกียรติหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ปี2565 แก่นายเอียะ สายกระสุน อายุ 72 ปี หมอพื้นบ้าน จ.สุรินทร์ เชี่ยวชาญในการรักษางูพิษ สัตว์พิษ อาการผิดสำแดง โรคริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อน ไข้ทับระดู และยาต้มหลังคลอด มีบทบาทร่วมรักษาผู้ป่วยงูพิษสัตว์พิษกัดกับในพื้นที่จ.สุรินทร์ตั้งแต่ปี 2539 และมอบประกาศเกียรติคุณและโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ พื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ระดับเพชร ประจำปีงบประมาณ2565 จำนวน 4 รางวัล, รางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่น ชมรมผู้สูงอายุด้านการแพทย์แผนไทย ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3 รางวัล
โดยบรรยากาศภายในงานวันแรกเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนสนใจเข้าร่วมงาน พร้อมต่อแถวรับแจกต้นกล้ากัญชาวัน 100 ต้น ขณะที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศวร ที่นำเอาสมุนไพรพื้นบ้านหายาก มาแจกภายในงานซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าแถวรอจำนวนมาก ทั้งนี้จะมีการแจกต้นไม้ และสมุนไพรทุกวันที่จัดงานเป็นรอบๆ ระหว่าง 6-10 ก.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 11 - 12 ตลอดจนมีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น นวดไทย 4 ภูมิภาค ให้บริการและสาธิตด้านการนวดไทย การประกวดผลงานวิชาการประจำปี นำเสนอผลงงานวิชาการที่ผ่านการคัดเลือก ,อบรมตลาดความรู้ (หลักสูตรระยะสั้น) ฟรี จำนวน 27 หลักสูตร เป็นต้น
นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าพัฒนายกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐาน เติบโตอย่างยั่งยืนนำไปสู่การเป็น ศูนย์กลางนวัตกรรมสมุนไพรของเอเชีย โดยในปี 2565 คาดว่าไทยจะสร้างรายได้ตรงนี้ไม่น้อยกว่า 48,298 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาครัวไทยสู่ครัวโลก โดยส่งเสริมให้นำสมุนไพรมาประกอบอาหาร สร้างสุขภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการนวดไทยที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนนวดไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติขององค์การยูเนสโกเมื่อปี 2562 ซึ่งสามารถต่อยอดทางธุรกิจ สปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างรายได้มากกว่า 300,000 ล้านบาท
ด้าน ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า งานสมุนไพรปีนี้จะเน้นเรื่องการกินอาหารเป็นยา เพราะที่ผ่านมาจากการดูแลคนไข้ จะพบว่ามีจำนวนมากที่ต้องกินยาเยอะ กินจนเหมือนเป็นอาหาร จึงน่าจดีกว่าที่เราจะส่งเสริมเรื่องของการกินอาหารเป็นยา ทางรพ.จึงทำวิจัยอาหารที่จะเข้าไปทำให้เชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้เจริญเติบโตดี นั่นคือ “พรีไบโอติก” ซึ่งในผักดองของไทยมีตัวนี้แต่ไม่มาก ดังนั้นจึงมีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ 52 ตัวอย่าง ที่วางขายในตลาดมาสกัดแล้วตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า เม็ดบัว กลอย ขมิ้นขาว ขิงอ่อน ขิงแก่ ข่า หอมแดง ลูกยอ กระเจี๊ยบเขียว มีพรีไบโอติกธรรมชาติมาก รองลงมาคือ มันมือเสือ มันแกว กระจับ ผักปลัง กระเจี๊ยบแดง บวบ หังปลี มะละกอ ราก/ไหลบัว หัวไชเท้า ฟักทองและหอมหัวใหญ่
ทั้งนี้เมื่อได้ผลการศึกษามาแล้วก็นำมาสู่การพัฒนาเมนูที่มีส่วนผสมของผักที่มีพรีไบโอติกดีมากกว่า 100 ตำหรับ จากนั้นได้นำมาทดสอบอีกครึ่ง พบว่าอาหารที่มีพรีไบโอติกดีมาก ได้แก่ กระจับผัดพริกเผา ข้าวคลลุกกะปิ ขนมผักกาด รองลงมาคือยำตะไคร้กุ้งสด ไก่หุงฟักทอง ปลาแนม กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด ตะโก้แห้ว ส้มตำไทย รากบัวผัดน้ำปลา ขนมจีนแกงป่า หัวไชเท้าทอด และหลนเต้าเจี้ยว นอกจากนี้ เรายังมีการนำผักต่างๆ มาทำผักดองคล้ายกับกิมจิของเกาหลี ซึ่งพบว่ามีพรไบโอติกเช่นกัน แต่อาจจะไม่มากเท่ากิมจิของเกาหลี แต่เป็นเรื่องที่เราต้องมีการศึกษาต่อ เพื่อส่งเสริมให้เป็นอาหารทางวัฒนธรรม ซึ่งคิดว่ามีโอกาส เหมือนที่เกาหลีทำถึงขั้นตั้งเป็นสถาบันกิมจิศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว
ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ความสำคัญของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ 1.จะช่วยย่อยอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้หรือย่อยไม่หมด 2. ช่วยผลิตวิตามิน เช่น วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 วิตามินอี วิตามินเค กรดแพนโทนิก และกรดโฟลิก 3.กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ กระตุ้นระบบขับข่ายดี 4. ยับยั้งเชื้อก่อโรค โดยผลิตกรดแล็กติกป้องกันการสัมผัสระหว่างเชื้อก่อโรคกับผนังลำไส้ 5. เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน หลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ลดลง และที่มีการศึกษาไปไกลคือช่วยเรื่องซึมเศร้าด้วย บ้านเรามีผัก ผลไม้ที่ดี มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัย ปรับประยุกต์ ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ประชาชนสามารถกิจได้ ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน จะได้ลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในสภาวะเงินเฟ้อ และมีสุขภาพที่แข้งแรงด้วย