"ตรีนุช" พร้อมรับ ก.ม. แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.1ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค

2022-06-24 16:33:43

"ตรีนุช" พร้อมรับ ก.ม. แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.1ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค

Advertisement

"ตรีนุช" เตรียมพร้อมรับ ก.ม. แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.19/2560 ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.65  น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ  เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านการลงมติเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณา ถ้าวุฒิสภาพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว จึงจะสามารถนําขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 4 เรื่องหลักๆ คือ 1. ให้อํานาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ. )เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 2.การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อํานวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้มีอํานาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง 3.ให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษา ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา โดยจํานวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กําหนด และ 4. นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กศจ. ยังคงมีอํานาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้เดิม ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เช่น อํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการกําหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการจัดการศึกษา , เป็นศูนย์กลางการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาในภาพของจังหวัดทุกระดับและทุกประเภท รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนาสถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบ ที่หลากหลาย , การให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด ตลอดจนการยุบรวมเลิกสถานศึกษาหรือ แม้กระทั่งการจัดตั้งศูนย์การเรียนที่เป็นอํานาจของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

"การแก้ไขคําสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษาและให้การปฏิบัติงานของบุคลากรทุกฝ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมาย ซึ่งดิฉันจะไม่รอให้การพิจารณากฎหมายแล้วเสร็จก่อน โดยจะมีการประชุม ก.ค.ศ.เพื่อเตรียมพร้อมออกหลักเกณฑ์และวิธีการได้มา ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะ ก.ค.ศ.ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ขณะเดียวกันจะเตรียมความพร้อมในการรองรับบทบาทใหม่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ สำหรับปัญหาการทุจริตเรียกรับเงินจากการแต่งตั้งโยกย้ายในอดีตก็จะมาดูในรายละเอียด และกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้ปัญหาต่างๆที่เคยเกิดขึ้นและช่องว่างในจุดต่างๆเหล่านั้นหายไป"น.ส.ตรีนุช กล่าว