การสำลักสิ่งแปลกปลอม (choking)

2022-06-17 09:58:10

การสำลักสิ่งแปลกปลอม (choking)

Advertisement

การสำลักสิ่งแปลกปลอม (choking)

การสำลักสิ่งแปลกปลอม หรือ choking เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของการการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แบ่งตามความรุนแรงตามอาการแสดงของผู้ป่วยได้ดังนี้

ทางเดินหายใจอุดกั้นบางส่วน(partial obstruction)

ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนอะไรมาติดคอ แต่ยังไอได้บ้าง พูดได้เป็นคำ ๆ การรักษาเบื้องต้น แนะนำให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง ๆ และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ผู้ช่วยเหลือโทรเรียกรถพยาบาลให้มารับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด

ทางเดินหายใจอุดกั้นทั้งหมด(complete obstruction)

ผู้ป่วยจะหายใจไม่ออก แสดงท่าทางเอามือกุมลำคอ พูดหรือร้องไม่มีเสียง หน้าเขียว ปลายมือเท้าเขียว การรักษาเบื้องต้น ในการช่วยเหลือเด็กโตและผู้ใหญ่ให้ใช้วิธีรัดกระตุกหน้าท้อง (abdominal thrusts หรือ Heimlich maneuver) เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจส่วนบน

ในการช่วยเหลือกรณีเด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี จะใช้วิธี การตบหลัง 5 ครั้ง (five back blow or back slap) และการกดหน้าอก 5 ครั้ง (five chest thrusts) ห้ามทำการรัดกระตุกที่หน้าท้องของเด็กทารก

กรณีผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายบนพื้นราบ ให้เริ่มทำการกดหน้าอกนวดหัวใจทันทีตามหลักการของการนวดหัวใจเพื่อฟื้นคืนชีวิตขั้นพื้นฐาน และทำการช่วยหายใจ พร้อมทั้งเปิดปากผู้ป่วยเพื่อมองหาสิ่งแปลกปลอม โดยการจัดท่าเปิดปากผู้ป่วย มองหาสิ่งแปลกปลอมก่อนทำการช่วยหายใจ หากมองเห็นสิ่งแปลกปลอมในปากผู้ป่วยให้ใช้นิ้วกวาดสิ่งแปลกปลอมออกมา (finger sweep) แต่หากมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมหรือไม่มั่นใจห้ามใช้นิ้วกวาดเพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอุดทางเดินหายใจอีกครั้ง

อ. พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงค์

ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล