ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ นายกฯ นั่งประธาน ก.ตร.
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิกาาร(กมธ.) วิสามัญฯ ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. ในฐานะรองประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ ในวาระสอง โดยเป็นพิจารณาต่อจากการประชุมครั้งที่แล้ว ทั้งนี้ที่ประชุมได้เริ่มเข้าสู่การพิจารณาในประเด็นสำคัญคือ บทว่าด้วยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยร่างมาตรา 14 กมธ. คงกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ประธาน ก.ตร. และตัดตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักศาลยุติธรรม ออกจากบทบัญญัติที่เสนอในวาระรับหลักการ
สำหรับการอภิปรายของส.ส.ในมาตราดังกล่าวทักท้วงและไม่เห็นด้วย ต่อการกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งประธาาน ก.ตร. เนื่องจากกังวลว่าจะเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจได้ โดยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยให้นายกรัฐมนตรีฐานะฝ่ายการเมืองดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาพบการใช้อำนาจ และตำแหน่งเพื่อแทรกแซงโยกย้ายโดยไม่คำนึงถึงหลักการอาวุโส ความรู้ความสามารถ และเพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเป็นไปตามความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมในความอาวุโส เห็นควรให้ บุคคลในวงการตำรวจ เช่น ผบ.ตร. หรือ อดีต ผบ.ตร. ทำหน้าที่ดังกล่าว
ขณะที่ในตำแหน่งของ ก.ตร.นั้น ยังมีผู้เสนอให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชน ตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึง นายกสภาทนายความ มีส่วนร่วม แต่ในการลงมติปรากฏว่าเสียงข้างมากเห็นชอบกับการแก้ไขของ กมธ.
ต่อจากนั้นได้พิจารณา มาตรา 15 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ ก.ตร. ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาก่อนลงมติให้เป็นไปตามการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมากที่กำหนดให้ ก.ตร. ออกข้อกำหนด นโยบาย มาตรฐาน ที่เกี่ยวเนื่องกับข้าราชการตำรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการพิจารณาของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ตามที่ประชุมคณะกรรมการประสานรัฐสภา(วิปรัฐสภา) เมื่อ 15 มิ.ย. เบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาประชุม วันที่ 16 - 17 มิถุนายน และวันที่ 24 มิ.ย.นี้ แต่หากไม่แล้วเสร็จจะพิจารณาเพิ่มวันประชุมในวันอังคาร ทั้งนี้วิปขอให้ส.ส.ใช้เวลาอภิปรายเนื้อหาให้กระชับ ไม่ซ้ำกับการอภิปรายของบุคคลอื่นเพื่อลดเวลาอภิปรายของสมาชิก และเร่งการทำงานในภาพรวม