กทม.เดินหน้าใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูล พัฒนาระบบสร้างความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้าง
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. ให้การต้อนรับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ประกอบด้วย Mr.Andrew Beirne ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง นายนที ทองจันทร์ ที่ปรึกษาโครงการ Global Future Cities Mr.Petter Matthews กรรมการบริหาร CoST International Secretariat นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) Anti-Corruption Organization of Thailand (ACT) นายวิสุทธิ์ ตันตินันท์ หัวหน้าทีม Democratic Governance and Social Advocacy โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Development Programme) และนางภัทรพร วรทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง โดยคณะได้ร่วมกันหารือในประเด็น Open Data ของ กทม.
สำหรับการเข้าพบในครั้งนี้เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการร่วมมือเพื่อพัฒนา Open Data ของ กทม. และกรณีตัวอย่างการดำเนินการ Open Procurement ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย CoST โดยเป็นกรณีตัวอย่างของจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ CoST- the Infrastructure Transparency Initiative (CoST) คือ หน่วยงานด้านการส่งเสริมความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของระบบภาครัฐ ซึ่งทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม กว่า 20 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเผยและการตีความหมายข้อมูล เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น สนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงาน พร้อมทั้งปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบข้อมูลที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กทม. เห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อผู้ประกอบการและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ซึ่งในโครงการขนาดใหญ่และมีระยะเวลาสัญญายาวนาน หากตรวจพบปัญหาเพียงเล็กน้อยและแก้ไขได้ทัน จะทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านบริหารจัดการดี : หันหน้าให้ประชาชน ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ เพิ่มความโปร่งใส ใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพียงเล็กน้อย จำเป็นต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของการรวมแพลตฟอร์มที่มีอยู่กับแพลตฟอร์มของกรุงเทพมหานครเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น