ลูกขี้อายทำอย่างไรดี ?
บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักมีความกังวลเกี่ยวกับความขี้อายไม่กล้าแสดงออกของลูก จนคิดว่าเป็นปัญหา แต่ในความเป็นจริง หากเป็นการขี้อายในระดับปกติก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่
ตัวอย่างเช่น ในเด็กเล็ก ๆ วัยที่ยังไม่เข้าเรียนนั้น การที่เขาออกไปข้างนอกจะทำให้เขารู้สึกกังวลเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ ๆ หรืออาจต้องใช้เวลาสักหน่อยกว่าจะเริ่มพูดคุยกับคนอื่น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่เด็กควรต้องมี เพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กระมัดระวังตัวเอง จะได้ไม่เจอกับอันตราย หรือบางคนอาจมีความขี้อายมากกว่าเด็กคนอื่น เป็นกลุ่มพื้นอารมณ์แบบปรับตัวช้า ดังนั้น จึงต้องให้เวลาเขาสักนิดในการปรับเวลาเมื่อเจออะไรใหม่ ๆ พอเขาเริ่มรู้สึกปลอดภัย เขาก็จะค่อย ๆ กลืนกินไปกับสังคมรอบข้างได้
ส่วนกรณีที่ถือว่าเป็นปัญหานั้น คือ การที่ความขี้อายเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิตมาก ๆ เช่น ถ้าถึงเวลาที่เขาต้องเข้าสังคมแล้ว แต่เขาไม่กล้าเลย ไม่ยอมออกจากบ้าน หรือถึงเวลาที่จะต้องพูดคุย ในลักษณะที่เป็นสังคม ในที่สาธารณะ หรือรายงานหน้าห้อง แล้วเกิดความกลัวมาก ๆ ตื่นเต้นมาก ๆ ใจสั่นเหงื่อแตก พูดอะไรไม่ออก แบบนี้ถือว่าน่ากังวล อาจต้องพามาปรึกษาหมอ
แต่การไม่กล้าแสดงออกในบางเรื่องอาจไม่ใช่ปัญหาทุกใหญ่ เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน บางคนกล้าแสดงออก กล้าเต้น แสดงสีหน้าท่าทาง แต่เรื่องภาษาเขาอาจทำได้ไม่คล่องนัก เนื่องจากสิ่งแวดล้อมในบ้านไม่ได้เอื้อเฟื้อให้เขาแสดงออกทางคำพูดได้ดี ทำให้มีความขัดเขินในการแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้
จะทำอย่างไรให้ลูกกล้าแสดงออก ?
หลักการโดยทั่วไป ความกล้าแสดงออกเกิดจากความคุ้นเคย นั่นหมายความว่า หากได้ทำซ้ำ ๆ ก็จะทำได้คล่องมากขึ้น ไม่ตื่นตระหนกไม่ตกใจ ดังนั้น ถ้าอยากให้เด็กมีความสามารถด้านการแสดงออก ก็ควรหาเวทีให้เขาได้ฝึก โดยอาจเป็นแค่กิจกรรมให้เขาได้เข้าสังคม ได้ทำร่วมกับคนอื่น ไม่จำเป็นต้องเป็นเวทีประกวดเพราะอาจทำให้เขากดดันได้
ความกล้าแสดงออกนั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับธรรมชาติของเด็ก บางคนอาจต้องใช้เวลา ไม่สามารถบอกแล้วทำต่อหน้าคนอื่นได้ทันที ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป อย่าไปกดดันเพื่อไม่ให้เขารู้สึกเครียด
นอกจากนั้น ความกล้าในการเข้าสังคมก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละวัย เริ่มตั้งแต่วัยก่อนอนุบาลหรืออนุบาล จะมีความเกร็งไม่ค่อยกล้าแสดงออก จึงต้องใช้เวลาให้เขาปรับตัว พอเริ่มเข้าประถม เขาจะเริ่มมีเพื่อน ตรงนี้ต้องสังเกตดูว่า ความกล้าหรือไม่กล้าแสดงออกของเขาส่งผลกระทบกับเรื่องการเรียนหรือการใช้ชีวิตมากขึ้นแค่ไหน รวมทั้งดูว่าเขามีวิธีรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากแค่ไหน ถ้าเขารู้สึกกลัว กังวล แต่พยายามฝึกฝน ทำจนคล่อง ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด
อ.นพ.มษฐา ทองปาน
สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล