สธ.ไม่พบโควิดเพิ่มขึ้นหลังเปิดสถานบันเทิง เร่งรัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ถึง 60%
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โควิด 19 และการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น
นพ.โอภาสกล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทย ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิต มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับความต้องการเตียงไอซียูในโรงพยาบาลที่ลดเหลือประมาณ 10% ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เริ่มกลับไปบริการผู้ป่วยโรคอื่นตามปกติ ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 ที่มีการเปิดกิจการสถานบันเทิง จากการติดตามยังไม่พบแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ต้องติดตามอีก 1-2 สัปดาห์ จึงบอกได้อย่างชัดเจนว่า การเปิดสถานบันเทิงไม่มีผลกระทบมากนักต่อจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยอาการหนัก
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 อยู่ที่ประมาณ 20-30 รายต่อวัน เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ไม่ได้รับวัคซีนเลยหรือไม่ได้รับเข็ม 3 จึงต้องพยายามทำให้กลุ่มนี้เสียชีวิตน้อยที่สุด คือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งคำแนะนำของไทย คือ คนอายุ 12 ปีขึ้นไปสามารถรับเข็มกระตุ้นได้ตามที่กำหนดคือ ฉีดเข็ม 2 เกิน 3 เดือนขึ้นไปรับเข็ม 3 กลุ่ม 608 ที่ฉีดเข็ม 3 แล้ว 3 เดือนให้รับเข็ม 4 และคนทั่วไปรับเข็ม 3 แล้ว 4 เดือนให้รับเข็ม 4 เนื่องจากการฉีด 2 เข็มจะป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 6-8% แต่ฉีด 3 เข็มป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต 93% และฉีด 4 เข็มป้องกันติดเชื้อ 76% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต 96% จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องเร่งรัดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะช่วงต่อไปที่จะเปิดประเทศและเปิดกิจกรรมให้ทำมากขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ 60% โดยขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 41% ทั้งนี้ มี 20 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นถึง 60% แล้ว ได้แก่ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ กทม. พระนครศรีอยุธยา น่าน สระบุรี ลำพูน ระยอง นครนายก ฉะเชิงเทรา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ยโสธร สมุทรสงคราม ชลบุรี ลพบุรี มหาสารคาม และนครปฐม ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดใหญ่ๆ และพื้นที่ภาคกลาง ปัญหาสำคัญคือประชาชนเริ่มไม่มารับวัคซีน เนื่องจาก 1.กลัวผลข้างเคียง ซึ่งย้ำว่าผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และมีประโยชน์ต่อการป้องกันติดเชื้อและอาการรุนแรง 2.คิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอ แต่การจะให้ปลอดภัยกับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุถือว่ายังไม่พอ 3.สายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง ไม่ต้องรับวัคซีน ซึ่งจริงเพียงบางส่วน คือ โอมิครอนไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ยังทำให้กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตได้ 4.กังวลผลระยะยาวของวัคซีน mRNA คิดว่าคงไม่มีผลมากนัก หากกังวลก็มีวัคซีนอื่นให้เลือก และ 5.ผู้สูงอายุมารับวัคซีนลำบาก เราจึงพยายามกระจายไปถึงใกล้บ้านมากที่สุดในระดับ รพ.สต.
“หลายคนยังไม่แน่ใจเรื่องเข็มกระตุ้น ย้ำว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นทุกชนิดทุกสูตรที่มี ขณะที่การฉีดเข็มกระตุ้นมีความสำคัญช่วยป้องกันอาการรุนแรง การเสียชีวิต และช่วยการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย อีโอซีกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นชอบแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยกลยุทธ์ที่จะทำให้ประชาชนรับวัคซีนมากขึ้น คือ ให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนตนเอง ดูว่ายังขาดเข็มกระตุ้นเท่าไร ต้องฉีดเท่าไร โดยวิเคราะห์เป็นรายอำเภอ ซึ่งขณะนี้พบว่าส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ครบจะอยู่ในอำเภอเมือง ส่วนอำเภอห่างไกลหรือชนบทยังฉีดค่อนข้างน้อย บางอำเภอฉีดเข็ม 3 ไม่ถึง 10% ซึ่งหลายจังหวัดเริ่มรณรงค์แล้ว หวังว่าจะร่วมแรงร่วมใจกันจะได้เปิดกิจการต่างๆ ได้มั่นใจและปลอดภัย"นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดหาวัคซีนปี 2564 มีแผนจัดซื้อ 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส ปี 2565 มีแผนจัดซื้อ 120 ล้านโดส ลงนามสัญญาซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส และฉีดวัคซีนแล้ว 34 ล้านโดส ส่วนจะต้องฉีดวัคซีนทุกปีแบบไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ แต่มีแผนเตรียมไว้แล้วโดยวัคซีนปี 2565 ที่เหลือสำรองไว้ปีหน้าได้ ทั้งนี้ ถ้าเทียบจำนวนคนไทย 70 ล้านคน ฉีดคนละ 2 เข็ม คือ 140 ล้านโดส ขณะนี้เราฉีดได้ 138 ล้านโดส ถ้าต้องฉีด 3 เข็ม คือ 210 ล้านโดส ถือว่าก็ยังห่าง แต่สามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมได้หากสถานการณ์เปลี่ยนไป เรามีแผนจัดหาวัคซีนให้เหมาะสมและสอดคล้องคนไทย
ด้าน นพ.สุเทพ กล่าวว่า แม้จะฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งแล้ว 81% แต่ผู้สูงอายุ 2 ล้านคน และเด็กอายุ 5-11 ปี อีก 2 ล้านคน ยังไม่ได้เข็มหนึ่ง จึงยังต้องเร่งฉีดอยู่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย แล้วตามด้วยเข็ม 2 จึงต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย 9-10 ล้านโดส ส่วนเข็มกระตุ้นต้องได้อย่างน้อย 60% ต้องเพิ่มอีก 15 ล้านโดส จึงตั้งเป้าหมายดำเนินการฉีดไม่น้อยอีกกว่า 30 ล้านโดส ทั้งนี้ จากการติดตามผู้ที่ครบกำหนดฉีดเข็ม 3 มีการฉีดเพียง 50% จึงต้องรณรงค์ให้คนที่ครบกำหนดเข้ารับวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดกิจการต่างๆ สำหรับกลยุทธ์ที่หารือกันในการฉีดเข็ม 3 คือการเอาวัคซีนไปหาประชาชน เนื่องจากกลุ่มที่ยังไม่ได้รับ บางคนกลัววัคซีนก็ต้องทำความเข้าใจ อีกส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงวัคซีนหรือไปมาไม่สะดวก จากเดิมวัคซีนเราฉีดที่ศูนย์กลางต่างๆ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ก็มีนโยบายไปฉีดถึง รพ.สต.
“ถ้าเราสามารถทำให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และเข้าถึงวัคซีนดีขึ้น ก็ต้องมีตัวซัพพลายวัคซีนไปถึง รพ.สต. จังหวัดมีแผนความต้องการ คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนในพื้นที่มีเท่าไร ก็จะกระจายส่งวัคซีนไปที่จังหวัด และจังหวัดส่งให้ รพ.สต. ขอความร่วมมือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาล ขอให้จัดฉีดวัคซีนทุกวัน ซึ่งช่วงหลังเมื่อคนฉีดวัคซีนน้อยลง บางแห่งมีการลดวันฉีด ซึ่งโดยนโยบายอยากให้ฉีดวัคซีนทุกวัน และประชาสัมพันธ์ให้คนมารับวัคซีน ว่าสามารถเข้าถึงตรงนี้ได้ ต้องทำความเข้าใจกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ยังลังเลหรือกลัววัคซีน" นพ.สุเทพ กล่าว