จุฬาฯแถลง "ทันเหตุการณ์ฝีดาษวานร" ให้ความรู้เกียวกับโรค ระบุองค์การอนามัยโลกเน้นคัดกรองเฝ้าระวังอาการ ไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีนฝีดาษเป็นวงกว้าง การติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดเป็นหลัก โรคสามารถหายเองได้โดยส่วนใหญ่
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 6 มิ.ย.65 ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักวิจัยประจำศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกันแถลงข่าว "ทันเหตุการณ์ฝีดาษวานร Monkeypox Update" ระบุว่า โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตระกูล orthopox ค้นพบครั้งแรกว่ามีการติดเชื้อสู่คนจากการถูกลิงกัด ในปี ค.ศ. 1970 เป็นที่มาของชื่อโรคฝีดาษวานร อย่างไรก็ตามแท้จริงแล้วการติดเชื้อไวรัส Monkeypox นี้ สามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือ การรับประทานเนื้อสัตว์ตระกูลสัตว์ฟันแทะอื่นได้ด้วย เช่น กระรอก หนู เป็นต้น หากมีการติดเชื้อในคน ก่อให้เกิดอาการไข้ มีผื่นตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามร่างกาย คล้ายโรคฝีดาษ smallpox ซึ่งถูกประกาศว่ากำจัดไปได้แล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1968 ทั้งนี้ เชื่อว่ายาต้านไวรัส และ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ smallpox สามารถใช้รักษา และป้องกันโรค Monkeypox ได้ด้วยเช่นกัน
Monkeypox ที่ยังคงพบได้ประปรายเป็นระยะ และพบว่ามีการระบาดสูงขึ้นเป็นครั้งคราว โดยมีถิ่นประจำอยู่ในแถบแอฟริกาตอนกลาง และตะวันตก ซึ่งพบว่ามีอัตราผู้ติดเชื้อเสียชีวิตเฉลี่ย 3-6% อย่างไรก็ตามหากพบการติดเชื้อในผู้ป่วยที่อยู่นอกถิ่นแอฟริกา จึงนับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากหากไม่มีการให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คนเพิ่มมากขึ้นและล่าช้า นำมาซึ่งการระบาดเป็นวงกว้างได้ ด้วยเพราะการเดินทางข้ามทวีปในปัจจุบันที่สะดวกสบาย อาจก่อให้เกิดปัญหาการระบาดเป็นวงกว้างตามมา
สำหรับการระบาดในยุโรป เมื่อ พ.ค. 2022 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ยืนยันการติดเชื้อที่มีประวัติเดินทางกลับจากไนจีเรีย จากนั้นเชื่อว่ามีการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเนื่องจากไวรัสมีระยะฟักตัวนานได้ถึง 21 วัน และในบางรายพบว่าอาการผื่นตุ่มน้ำ เกิดขึ้นเพียงเยื่อบุช่องปาก หรือ อวัยวะเพศ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็น Monkeypox ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้ ในเวลาช่วงเดือนที่ผ่านมา จึงทำให้พบมีรายงานผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 500 ราย กระจายทั่วโลก ในกว่า 20 ประเทศในยุโรปและ กว่า 10 รัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกเน้นให้เห็นความสำคัญของการคัดกรอง และเฝ้าระวังอาการของโรคเป็นสำคัญ ในขณะที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีน smallpox เป็นวงกว้าง เนื่องจากการติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดเป็นหลัก ทำให้โอกาสติดเชื้อไม่ง่ายนัก หากมีการแจ้งเตือนผู้ป่วยสงสัยได้อย่างรวดเร็ว สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้
ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นต้องให้ความสำคัญของการคัดกรอง และแยกโรคเมื่อพบผู้ป่วยสงสัย พร้อมกับมีความรู้ความสามารถในการเก็บสิ่งส่งตรวจที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่กระบวนการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการที่ปลอดภัย โดยสำหรับวิธีตรวจในปัจจุบันสามารถใช้วิธี RT-PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรมในการยืนยันโรค Monkeypox และในอนาคตหากมีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย การรักษายังคงเป็นการรักษาตามอาการ โดยโรคสามารถหายเองได้โดยส่วนใหญ่