"ศักดิ์สยาม"โต้งบกระทรวงคมนาคมกระจุกบุรีรัมย์ แจงเหตุได้เยอะเป็นเมืองกิจกรรมระดับโลก
เมื่อเวลา 18.50 น. วันที่ 2 มิ.ย.65 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 66 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เรายึดถือว่าจะต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบกฎหมาย ภายใต้มติ ครม. ตามหลักธรรมภิบาล และดำเนินการโดยคำนึงประโยชน์ประชาชน และประเทศ เป็นศูนย์กลาง ซึ่งการกระจายตัวของงบประมาณนั้น ยึดหลักการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งเรามีงบลงทุนมี 4 ด้าน ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง รวม 205,806 ล้านบาท ทั้งหมดมีการกระจายงบไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วทั้งประเทศ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เราพิจารณาถึงการกระจายตัวของประชากรในแต่ละภูมิภาค ที่ท่านกล่าวว่างบกระจุกตัวที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนนั้น หากย้อนดูในอดีตตั้งแต่ปี 2554 จะเห็นว่าเครือข่ายคมนาคมของ จ.บุรีรัมย์ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ มีไม่เพียงพอ ทั้งที่ จ.บุรีรัมย์ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก สร้างรายได้ให้ประเทศ ไม่ว่าจะมีสนามแข่งขันรถระดับโลก การพัฒนาการสร้างสนามกีฬาระดับโลก และกิจกรรมอื่นๆ ทำให้มีพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว และนักกีฬา เดินทางมาจ.บุรีรัมย์มาก ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสร้าง และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เราต้องพิจารณาภาพรวมจะเห็นว่า จ.บุรีรัมย์ ไม่ได้มีงบประมาณที่มากเกินกว่าจังหวัดอื่นๆ
รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในส่วนของบริการขนส่งทางราง โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 27 เส้นทาง ระยะทาง 554 กม. จะเสร็จสิ้นปี 2572 ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการได้แล้ว 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กม. และจะมีการเร่งรัดอีก 4 เส้นทาง ขณะที่ การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเส้นทาง บางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. รวม 40 ตอน ซึ่งก่อนที่ตนจะมาดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม สร้างเสร็จแล้ว 15 ตอน และในช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน ก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้น 9 ตอน รวมเป็น 24 ตอน จึงคงเหลือ 16 อย่างไรก็ตาม อุปสรรคด้านสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากพื้นราบกลายเป็นบ่อลึก ทำให้แบบที่ออกไว้ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามรูปแบบเดิม ต้องปรับปรุงรูปแบบวิศวกรรมให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพในปัจจุบัน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งหมดกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านวิศวกรรม เพื่อสรุปเรื่องทั้งหมดเสนอต่อครม. เพื่อปรับรูปแบบโครงการต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการได้บางส่วนในปี 2566 และปี 2567 จะเปิดใช้ได้ทั้งเส้นทาง ส่วนทางหลวงพิเศษเส้นทางสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 2566