สธ.คาดนำร่องถอดหน้ากากอนามัย จ.สีเขียว สีฟ้า

2022-05-26 00:30:55

สธ.คาดนำร่องถอดหน้ากากอนามัย จ.สีเขียว สีฟ้า

Advertisement

สธ.คาดนำร่องถอดหน้ากากอนามัยบางสถานที่ ในจังหวัดสีเขียว สีฟ้า  

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 65  ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา การควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า ขณะนี่สถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น และเริ่มผ่อนคลายมาตรการ แต่หลายประเทศ มีการติดเชื้อเยอะอยู่ ที่ยุโรปอเมริกามีการติดเชื้อหลักหมื่นราย และมีผู้เสียชีวิต ส่วนสถานการณ์ในเอเชียวิเคราะห์ทางประเทศเกาหลี ญี่ปุ่นมีรายงานติดเชื้อวันละประมาณ 20,000 กว่าราย เสียชีวิตอยู่ในหลักสิบราย ส่วนประเทศไทยมีการติดเชื้อวันนี้ 5,003 ราย ถ้าบวกการตรวจ ATK ที่รายงานเข้ามาประมาณจะพบว่าในไทยมีคนติดเชื้อราวๆ วันละ 30,000 ราย สถานการณ์ใกล้เคียงกับเกาหลี ญี่ปุ่น การเสียชีวิตก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกัน ส่วนปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในเกณฑ์คงตัว 1,028 ราย ใส่ท่อ 530 ราย ไม่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เสียชีวิต 33 รายลดลงมาเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไป บางคนไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว  ทั้งนี้ในโรงเรียนพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนบ้างในโรงเรียนประจำ แต่มีการแยกโซนเรียนรักษา ไม่ต้องปิดโรงเรียน และเน้นย้ำการใส่หน้ากากเวลาเรียน และทำกิจกรรมร่วมกัน

นพ.จักรรัฐ  กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเรายังคงการเตือนภัยโควิดอยู่ที่ระดับ 3 หากสถานการณ์ ติดเชื้อลดลงป่วยหนักเสียชีวิตลดลงอีกก็จะสามารถปรับการเตือนภัยไปสู่ระดับ 2 มีการผ่อนคลายมากขึ้น ประชาชนจะได้ปฏิบัติตัวใช้ชีวิตให้ปกติมากขึ้น และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล สถานพยาบาล และทีมสอบสวนโรค ขณะนี้สถานการณ์ในไทยดีขึ้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้เป็นช่วงขาลงซึ่งทุกคนสบายใจ ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังต้องเน้นย้ำว่าปลอดภัยแต่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเสี่ยง 608 และวัยเรียน 5-11 ปีจะต้องรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น การถอดหน้ากากนั้น จะเริ่มในบางพื้นที่ และบางสถานที่ก่อน เช่น ที่โล่งแจ้ง เบื้องต้นที่จะได้การผ่อนคลายก่อนคือจังหวัดสีเขียว และจังหวัดสีฝ้า โดยกระทรวงสาธารณสุขสามารถประกาศได้ และแจ้งให้ ศบค.รับทราบ หรือส่งเรื่องให้ทาง ศบค.เป็นผู้พิจารณาก็ได้

นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ศูนย์ประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลวัคซีน กรมควบคุมโรค ได้ศึกษากลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนทุกสูตรในประเทศไทย เทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน โดยกลุ่มตัวอย่างคือคนที่ตรวจ ATK และ RT-PCR เป็นลบ กว่า 5 แสนราย พบว่าคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม แทบจะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้เลย ยกเว้นคนที่เพิ่งฉีดใหม่ๆ แต่พบว่าป้องกันอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้ 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ฉีด 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิตได้ 93% ส่วนคนที่ฉีด 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้สูงขึ้น และป้องกันอาการหนัก เสียชีวิตได้มาก ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่สำรวจนั้นคนฉีดเข็ม 4 แล้วไม่มีรายงานการเสียชีวิตเลย

"การศึกษาครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยทุกสูตร มีประสิทธิผลสูงในการป้องกันการป่วยและเสียชีวิต เมื่อมีการวิเคราะห์ย่อยลงไปถึงสูตรที่มีการฉีดในประเทศไทย ทุกสูตร 3 เข็ม ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นท่านไว้วางใจได้จะทำให้มั่นใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากเราอยากเปิดประเทศอยากกลับไปใช้ชีวิตปกติ ไม่อยากเห็นการป่วยเข้าโรงพยาบาล จึงต้องฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะการฉีด 3 เข็มขึ้นไปเพื่อป้องกันการป่วยรุนแรง” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเปิดหน้ากากนั้นทางกระทรวงมได้กำหนดว่าจะเริ่มวันไหน แต่ประเมินเป็นรายพื้นที่ทั่งสถานการณ์ที่ดีขึ้น และมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60-70 % ในหลายประเทศที่มีการเปิดหน้ากาก เปิดประเทศกันนั้น พบว่าประชากรของเขามีการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนมาก แต่จากข้อมูลการฉีด 3 เข็มขึ้นไป ในประเทศไทยนั้นพบว่าในคนทั่วไปฉีดแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีกจำนวนมากที่ต้องมาฉีด ผู้สูงอายุฉีดแค่ 43 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีกกว่า 6 ล้านคนที่ต้องฉีด ซึ่งคนที่ไม่ยอมฉีดนั้นพบว่า 1. คิดว่า 2 เข็มก็พอ จึงต้องย้ำว่ายังไม่พอ เพราะโอมิครอนความรุนแรงลดลงในคนที่สุขภาพดี คนที่ฉีดวัคซีนครบ แต่คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คนที่ฉีดวัคซีนยังไม่ครบนั้น โอมิครอนถือว่ายังมีความรุนแรงอยู่ 2.ไม่ฉีดเพราะกลัวผลข้างเคียง ก็ต้องย้ำว่าจากการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และส่วนใหญ่หายได้เอง จึงขออย่ากังวล ขอให้พากลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน เพื่อให้การเปิดประเทศมีความปลอดภัย 

เมื่อถามว่าหากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดของไทยจะเป็นอย่างไร นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการหารือกันต่อไป โดยพิจารณาเรื่องของสถานการณ์การระบาด สายพันธุ์ที่มีการระบาด ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีดนั้นอยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งตอนนี้มีรายงานว่าสูงสุดคือ 6 เดือน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 พ.ค.65 ที่ประชุม ศบค. ได้ปรับพื้นที่โซนสี มีผลวันที่ 1 มิ.ย. โดยให้เพิ่มจังหวัดสีเขียว 14 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท พิจิตร อ่างทอง น่าน มหาสารคาม ยโสธร นครพนม ลำปาง อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ตราด สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุดรธานี  พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 17 จังหวัดระกอบด้วย กทม. กระบี่ กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา