ศึกษาพบ "วัคซีนโควิด-19" โดสกระตุ้น แบบฉีดพ่น ฝีมือจีน ปลอดภัย-มีประสิทธิภาพ

2022-05-24 18:50:15

ศึกษาพบ "วัคซีนโควิด-19" โดสกระตุ้น แบบฉีดพ่น ฝีมือจีน ปลอดภัย-มีประสิทธิภาพ

Advertisement

ปักกิ่ง, 24 พ.ค. (ซินหัว) — การทดลองทางคลินิกในจีนพบวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดสกระตุ้น แบบฉีดพ่น มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในกลุ่มผู้ใหญ่

คณะนักวิทยาศาสตร์ นำโดยเฉินเวย จากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารในจีน พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบฉีดพ่นทางปาก ชนิดใช้อะดิโนไวรัส ไทป์ 5 เป็นตัวนำพา หรือแอดไฟว์ เอ็นโควี (Ad5-nCoV)

ทีมงานของเฉินและคณะนักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ทำการทดลองแบบสุ่ม แบบเปิด และแบบควบคุม เพื่อประเมินความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนตัวดังกล่าว โดยฉีดเป็นโดสกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ชาวจีนที่ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายแล้วสองโดส จำนวน 420 คน

ผลการศึกษาในวารสารแลนเซต เรสพิราทอรี เมดิซิน (Lancet Respiratory Medicine) ระบุว่าผู้เข้าร่วมที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวดังกล่าวด้วยการฉีดพ่นโดสต่ำหรือโดสสูงแบบสุ่ม หรือด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเหมือนสองโดสก่อนหน้าแบบควบคุม ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. ปีก่อน

ผลลัพธ์พบกลุ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบโดสต่ำ มีความเข้มข้นของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์อยู่ที่ 744.4 ส่วนแบบโดสสูงอยู่ที่ 714.1 เป็นเวลา 14 วันหลังฉีดโดสกระตุ้น ซึ่งสูงกว่ากลุ่มฉีดวัคซีนแบบควบคุมที่มีความเข้มข้นของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์อยู่ที่ 78.5

ทั้งนี้ แอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ที่กระตุ้นโดยวัคซีน สามารถจับตัวกับเชื้อไวรัสฯ และป้องกันการติดเชื้อในเซลล์ได้

นอกจากนั้นผลลัพธ์ยังพบผู้เข้าร่วมรายงานผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เพียง 26 คน ในกลุ่มฉีดวัคซีนแบบโดสต่ำ และ 33 คน ในกลุ่มฉีดวัคซีนแบบโดสสูง ภายใน 14 วันของการฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นตัวใหม่ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มฉีดวัคซีนแบบควบคุมที่มีผู้เข้าร่วมรายงานผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ 54 คน

คณะนักวิจัยสรุปว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสกระตุ้นต่างชนิดกับสองโดสแรก ด้วยวัคซีนแบบฉีดพ่นทางปาก ชนิดแอดไฟว์ เอ็นโควี ในผู้ใหญ่ที่ก่อนหน้านี้ฉีดวัคซีนแล้ว มีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง

ปัจจุบันคณะนักวิจัยวางแผนการทดลองแบบพหุสถาบัน แบบสุ่ม แบบปกปิดสองทาง และแบบควบคุมคู่ขนานในเม็กซิโก เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวใหม่นี้ในฐานะโดสกระตุ้น