กมธ.กฎหมายลูก 2 ฉบับ ยื่น "ชวน" แล้วบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา 9-10 มิ.ย.
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 24 พ.ค. 65 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิกาiวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือก ตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แถลงถึงการยื่นร่างกฎหมายลูก 2ฉบับต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา
นายสาธิต ปิตะเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธาน กมธ.กล่าวว่า กมธ.ได้ยื่นร่างกฎหมายลูก 2ฉบับให้นายชวนเรียบร้อยแล้ว นายชวนแจ้งว่า จะบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ในวันที่ 9-10 มิ.ย.นี้ มีสาระสำคัญ อาทิ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จะแบ่งส.ส.เป็นส.ส.เขต 400คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100คน มีวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนำคะแนนรวมส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศหารด้วย100 มาหาคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ และใช้เบอร์สมัครรับเลือกตั้งต่างเขตต่างเบอร์
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวว่า ในส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น กมธ.แก้ไขวิธีทำไพรมารีโหวตให้สะดวกขึ้น ให้พรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ด้วยวิธีไพรมารีโหวตแค่เขตใดเขตหนึ่งในจังหวัดเท่านั้น ไม่ต้องทำทุกเขต ทั้งนี้หลังจากที่ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2ฉบับผ่านที่ประชุมรัฐสภา ในวาระ2-3แล้ว จะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะเจ้าของกฎหมายพิจารณาว่า จะเห็นด้วยหรือแก้ไขกฎหมายในส่วนใดหรือไม่ ไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยกเว้นจะมีผู้เห็นแย้ง สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 1ใน10 ส่งให้ตีความ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า หากยึดคะแนนจากการเลือกตั้งปี2554 เป็นเกณฑ์แล้ว การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อตามร่างกฎหมายลูกที่แก้ไขใหม่ จะมีค่าเฉลี่ยของส.ส.บัญชีรายชื่อต่อคนอยู่ที่ 3.2แสนคะแนน ส่วนคะแนนปัดเศษหลังจากคำนวณแล้ว ยังได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100คนนั้น พรรคที่จะได้การปัดเศษมีส.ส.บัญชีรายชื่อในส่วนที่เหลือเพิ่ม อย่างน้อยต้องมีคะแนนเศษตั้งแต่ 1.7แสนคะแนนขึ้นไป .
ด้านนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ส.ว.ในฐานะกมธ.วิสามัญฯกล่าวว่า แม้กมธ.จะมีมติวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้หารด้วย100 แต่กมธ.ที่เห็นต่างยังสงวนความเห็นในชั้นแปรญัตติวาระ2-3 ส่วนตัวเห็นต่างมองว่า ควรหารด้วย500 เพราะการเขียนกฎหมายลูกต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกพรรคไม่ว่าพรรคใหญ่ พรรคเล็ก วิธีการหารด้วย500 จะทำให้พรรคเล็กได้ประโยชน์ด้วย เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าสภามาทำหน้าที่ออกกฎหมาย แม้โอกาสที่จะเข้ามาเป็นเสียงข้างมากจะเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ควรปิดโอกาสกันตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมรัฐสภาลงมติวาระ2-3 ยืนยันให้ใช้ 100หาร ในการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ตนคงไม่ร่วมลงชื่อตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กับส.ว.คนอื่นๆที่เห็นต่างกันเรื่องนี้ ไม่สามารถการันตีได้จะไปเข้าชื่อยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่