แพทย์ผิวหนังชี้การทำเลเซอร์อวัยวะเพศชาย ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แนะต้องดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องการเลเซอร์อวัยวะเพศชายให้ขาวใส โดยระบุว่าเป็นการเลเซอร์ลดการสร้างเม็ดสีผิว เปลี่ยนอวัยวะเพศชายจากดำให้ขาวขึ้น ไม่เจ็บ ไม่ต้องฟักฟื้นนั้น ในปัจจุบันมีเลเซอร์หลายชนิดที่ใช้รักษาภาวะเม็ดสีที่ผิวหนัง เช่น การรักษาฝ้า รอยดำที่เกิดหลังการอักเสบ การเลือกชนิดของเลเซอร์ที่ใช้ในการรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะและความลึกของเม็ดสีที่ผิดปกติ ซึ่งบางโรคสามารถใช้เลเซอร์รักษาให้หายขาดได้ ในขณะที่โรคจากพันธุกรรมการใช้เลเซอร์อาจจะทำให้โรคดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ถึงแม้ว่าการทำเลเซอร์จะมีประโยชน์ในการช่วยรักษาโรคหรือลดความผิดปกติของเม็ดสีได้ แต่อาจเกิดผลข้างเคียงตามมา ดังนั้น การเลือกชนิดของเลเซอร์ที่ถูกต้องควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การใช้เลเซอร์ในการรักษาเม็ดสีที่ผิวหนังมีหลายชนิด ซึ่งการทำเลเซอร์จะมีความจำเพาะเจาะจงในการทำลายเฉพาะเม็ดสี ทำให้เกิดการแตกสลายของเม็ดสี จากนั้นเม็ดเลือดขาวจะค่อย ๆ เข้ามาเก็บกินเม็ดสีที่ถูกทำลาย ทำให้รอยโรคค่อย ๆ จางลงและหายไปในที่สุด ภายหลังการรักษาอาจเกิดแผล มีลักษณะเป็นจุดเลือดออกเล็กๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 2 – 3 วัน จากนั้น แผลจึงแห้งตกสะเก็ดและหลุดไป
“การทำเลเซอร์อวัยวะเพศชายเป็นการทำเลเซอร์ประเภทที่มีความจำเพาะเจาะจงในการทำลายเม็ดสี จึงมีข้อควรระวังในการทำเลเซอร์อวัยวะเพศชายซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ทำให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างทำการรักษา การอักเสบของแผล การตกสะเก็ด รอยคล้ำ หรือแผลเป็น ซึ่งอวัยวะเพศชายเป็นจุดอับชื้น หากดูแลแผลไม่ดีอาจเกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้น ควรสอบถามรายละเอียด ขั้นตอนในการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการดูแลตนเองก่อนและหลังการรักษา พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าว”พญ.มิ่งขวัญ กล่าว
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า การโฆษณาเรื่องนี้ถือว่าผิดกฎหมาย คือ 1.การโฆษณาเครื่องมือแพทย์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่ง สบส.ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการดำเนินการเอาผิดประเด็นนี้แล้ว และ 2.การโฆษณาสถานพยาบาล เพราะมีการระบุชื่อโรงพยาบาลชัดเจน แม้ผู้ทำการโฆษณาจะไม่ใช่สถานพยาบาลเองก็ตาม แต่มีการยินยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดโฆษณาแทนตนเอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการโฆษณาดังกล่าว ซึ่งตรงนี้ได้ประสานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ดำเนินการแล้ว เนื่องจากเป็นสถานพยาบาลในพื้นที่ จ.นนทบุรี