เวียงจันทน์, 20 พ.ค. (ซินหัว) — แม่น้ำโขง ซึ่งทอดตัวผ่านหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระดับน้ำสูงขึ้นในปี 2022 หลังจากมีปริมาณการไหลของน้ำที่ต่ำและประสบภัยแล้งติดต่อกัน 4 ปี
วันศุกร์ (20 พ.ค.) หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์ส อ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุว่าระดับน้ำของแม่น้ำโขงในช่วง 4 เดือนแรกแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการไหลของตะกอนและสารอาหารมากขึ้นจนช่วยเพิ่มจำนวนปลา ปรับปรุงการเกษตร และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนราว 70 ล้านคน
อย่างไรก็ดี วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการแผนกสนับสนุนด้านเทคนิคของคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำไม่ได้ขจัดความเสี่ยงภัยแล้งระดับปานกลาง
ด้านอนุรักษ์ กิตติคุณ ซีอีโอสำนักเลขาธิการของคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าตัวเลขจากคณะกรรมาธิการฯ ชี้ว่าระดับน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 60 ปี ระหว่างปี 1961-2021 และยังคงเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ปีที่แล้ว ฤดูฝนตามฤดูกาลลดระยะเวลาลงจาก 5 เดือนเหลือ 4 เดือน จากเดิมมิถุนายน-ตุลาคม เป็นกรกฎาคม-ตุลาคม ส่วนปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ยังหมายถึงความเสี่ยงฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน
ตัวชี้วัดด้านอุตุนิยมวิทยาของคณะกรรมาธิการฯ ชี้ว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 ถึงเมษายน 2022 ลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่เพียงมีปริมาณน้ำมากกว่าในปีปกติ แต่ปริมาณน้ำฝนสะสมในปี 2022 ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยราวร้อยละ 25
ข้อมูลจากสถานีเฝ้าติดตามหลายแห่งระบุว่าระดับน้ำในปีนี้สูงกว่าช่วงปี 2019-2021 ซึ่งเกิดภัยแล้งอย่างเด่นชัด อาทิ สถานีเชียงแสนของไทยตรวจวัดระดับน้ำสูงขึ้นจาก 1.84 เมตร ในวันที่ 2 มี.ค. เป็น 3.25 เมตร ในวันที่ 11 พ.ค. ขณะตลอดแนวเส้นทางจากสถานีสตึงแตรงถึงสถานีกำปงจามของกัมพูชาตรวจวัดระดับน้ำสูงขึ้นถึง 2.22 เมตร
อนึ่ง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจาและความร่วมมือระดับภูมิภาคในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1995 ตามความตกลงแม่น้ำโขงระหว่างกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม