10 วิธีดูแลสุขภาพพ่อให้แข็งแรง ห่างไกลโรค

2017-12-05 13:30:45

10 วิธีดูแลสุขภาพพ่อให้แข็งแรง ห่างไกลโรค

Advertisement

เวียนมาถึงอีกหนึ่งปีแล้วสำหรับวันพ่อแห่งชาติ ทำให้บรรดาลูกๆ ทั้งหลายอดที่จะคิดถึงคุณพ่อไม่ได้ ช่วงเวลานี้จึงเป็นอีกช่วงเวลาแห่งความสุขและความอบอุ่นที่ลูกหลานซึ่งอยู่ห่างไกลจะได้มีโอกาสเดินทางกลับไปกราบคุณพ่อ และได้มีเวลาสอบถามทุกข์สุข รวมถึงการตรวจเช็คสุขภาพของคุณพ่อ ซึ่งหากคุณพ่อของใครช่วงเวลานี้ไม่ค่อยแข็งแรง เห็นที่ลูกๆ คงต้องหันมาดูแลเอาใส่ใจกันอย่างเข้มงวดมากขึ้นซะแล้ว

10 ข้อแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับใช้เพื่อการดูแลสุขภาพของคุณพ่อให้แข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ หรือหากใครจะยึดหลักนำไปปรับใช้กับคุณแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้วัยผู้สูงอายุก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน 

1. เลือกกินอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม วัยสูงอายุร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แน่นอนว่าพลังงานที่จะนำมาใช้เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ย่อมลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเน้นกินอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลและไขมันมากเกินไปอีกแล้ว แต่ให้หันมาเน้นอาหารที่ให้โปรตีนแทนโดยหาได้จากเนื้อสัตว์อย่างเนื้อปลา และควรเพิ่มปริมาณแร่ธาตุให้เพียงพอ โดยสามารถกินได้จากนมถั่วเหลือง ธัญพืช ผักและผลไม้
2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยในเรื่องสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดได้ค่อนข้างดี


3. สูดอากาศบริสุทธิ์เป็นประจำ เพราะอากาศที่บริสุทธิ์ หากหมั่นได้สูดเข้าปอดเป็นประจำแล้ว มันจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ดี
4. ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ในวัยหนุ่มสาว ก็ยังมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยง ยิ่งหากในวัยผู้สูงอายุด้วยแล้ว การดื่มสุราและสูบบุหรี่ยิ่งควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาดเช่นกัน เพราะจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรค และอย่างน้อยก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ได้



5. ใส่ใจป้องกันอุบัติเหตุ วัยสูงอายุ มักมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเสมอ ดังนั้น แนะนำให้เลือกทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายที่อำนวยไหว โดยควรคำนึงถึงโรคประจำตัว และการเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมยังช่วยสร้างเสริมกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง
6. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์พอดี อายุมากขึ้นแล้ว ระบบเผาผลาญย่อมทำงานเสื่อมประสิทธิภาพตาม หากมีพฤติกรรมการกินแบบผิดๆ ก็ย่อมเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้


7. ใช้ยารักษาโรคอย่างเหมาะสม ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะการทำงานของตับและไตในร่างกายผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพต่อการกำจัดยาน้อยลง อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการได้รับพิษจากยาได้
8. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติในร่างกายอยู่เสมอ เช่น การหมั่นคลำหาก้อนที่ผิดปกติตามตัว อาการเบื่ออาหาร ท้องอืดเรื้อรัง น้ำหนักตัวลดลง เหนื่อยง่าย



9. ทำใจให้สบาย ไม่เครียด เพราะความเครียด เป็นตัวบั่นทอนการมีสุขภาพที่ดี ไม่เว้นกับคนทุกเพศทุกวัย
10. ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในหลอดเลือด โรคมะเร็ง ฯลฯ
คำแนะนำทั้ง 10 ข้อนี้ล้วนมีประโยชน์อย่างมาก หากคุณพ่อของเรามีโอกาสได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รับรองได้ว่าท่านจะมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาวแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก mahosot.com