108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : เลือกรองเท้าที่เหมาะสมในผู้ป่วยเบาหวาน

2017-12-12 14:00:53

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : เลือกรองเท้าที่เหมาะสมในผู้ป่วยเบาหวาน

Advertisement

เท้าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักและการเคลื่อนไหว ซึ่งหลายคนมักละเลยการดูแลสุขภาพเท้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อาจเริ่มมีอาการเท้าชา เท้าผิดรูป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพเท้าและการเลือกรองเท้าอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดแผลที่เท้าและลดอัตราการถูกตัดขาของผู้ป่วย


ฉะนั้น รองเท้าที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จึงควรเป็นรองเท้าทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น เช่น หนังแท้ หนังสังเคราะห์ หรือผ้าบางชนิด ซึ่งรองเท้าควรมีความพอดีทั้งขนาดและรูปร่าง ไม่คับหรือหลวมเกินไป โดยให้สังเกตความกว้างภายในให้เหมาะกับเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนหน้าของรองเท้าควรเลือกชนิดหัวโตที่กว้างพอให้นิ้วเท้าสามารถขยับได้

นอกจากนี้ ต้องมีสายรัดส้นหรือหุ้มส้นที่รองเท้าด้วย เพราะผู้ป่วยเบาหวานบางคนมีปัญหาเท้าชาเวลาเดิน ถ้าใส่รองเท้าแตะจะหลุดง่าย ทำให้ต้องมีการจิกนิ้วเท้ากับรองเท้า เมื่อเกิดแรงกดมากก็มีโอกาสเกิดแผลได้ อีกทั้งรองเท้าควรเป็นชนิดที่มีเชือกผูก เพื่อให้ปรับได้ง่ายเวลาเท้าขยายตัว ด้านในของรองเท้าควรบุให้นิ่มและเรียบ โดยเฉพาะส่วนที่รับเท้าต้องยืดหยุ่น หากเป็นรองเท้ากีฬาหรือรองเท้าวิ่ง ควรมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร


เทคนิคการเลือกรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น รองเท้ากีฬา รองเท้าใส่ในบ้าน ควรเลือกซื้อรองเท้าในช่วงบ่าย เนื่องจากขนาดเท้าจะขยายได้มาก ซึ่งรองเท้าแต่ละแบบมีส่วนหน้ากว้างไม่เท่ากัน ควรทดสอบด้วยการใช้กระดาษแข็งวาดรองเท้า แล้วสอดแผ่นกระดาษเข้าไปในรองเท้า หากแผ่นกระดาษม้วนตัวหรือมีรอยย่นแสดงว่าแคบไป

วิธีการใช้งานรองเท้าคู่ใหม่ เมื่อได้รองเท้าคู่ใหม่มาแล้ว ควรเริ่มใส่เดินในวันแรกประมาณ 30 นาที จากนั้นให้ตรวจว่ามีรอยแดง รอยถลอกหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ารองเท้านี้คับไป ควรนำไปแก้ไขหรือหาคู่ใหม่ ในกรณีที่รองเท้าไม่มีปัญหา ให้ค่อยๆ เพิ่มเวลาในการใช้รองเท้าในวันที่สองเป็น 1 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาในการใช้รองเท้าราว 1 สัปดาห์

ก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง ให้เคาะรองเท้าและตรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในรองเท้าหรือไม่ เช่น เศษดิน หิน และต้องสวมรองเท้าตลอดเวลาทั้งในและนอกบ้าน ห้ามสวมรองเท้าเปิดโดยเฉพาะแบบคีบ และควรสวมถุงเท้าทุกครั้งด้วย





นพ.เอกชัย เพชรล่อเหลียน

ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล