108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : “แพนิค” โรคตื่นตระหนก

2017-11-28 18:00:16

 108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : “แพนิค” โรคตื่นตระหนก

Advertisement

หากใครไม่รู้จักโรคนี้ฟังอาการดูแล้ว อาจรู้สึกแปลก ๆ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้ ก็ถือว่ามีความน่ากลัวไม่ใช่น้อยเลย อาการที่ว่าคือ อยู่ดี ๆ ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยก็เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก ตัวสั่น รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หายใจขัดข้อง ไม่สบายท้อง ปั่นป่วนในท้อง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม เมื่อมีอาการเหล่านี้ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เรากำลังจะเป็นอะไรไปหรือไม่

บางคนรู้สึกเหมือนว่าไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บางคนคิดว่ากำลังมีอาการของโรคหัวใจและกำลังจะตายแล้ว อาการอาจเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาที แล้วค่อย ๆ หายไปเอง ผู้ป่วยหลายคนพยายามโทรหาคนใกล้ชิดเพื่อให้พาไปโรงพยาบาล แต่เมื่อไปถึง แพทย์ตรวจแล้วกลับไม่พบความผิดปกติใด ๆ หัวใจก็เต้นปกติดี ยิ่งทำให้งงกันไปใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น พอกลับบ้านมาไม่กี่วันก็เกิดอาการเช่นเดิมอีก จนบางคนไม่กล้าอยู่คนเดียวเพราะกลัวว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก แล้วถ้าเป็นอะไรไปจะไม่มีใครช่วยได้

อาการแบบนี้จริง ๆ แล้วสามารถพบได้ในหลายโรค เช่น โรคลิ้นหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคไมเกรน โรคลมชักบางประเภท และสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการใช้สารบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการเช่นนี้ ที่พบบ่อยคือ สารคาเฟอีน แต่หากตรวจไม่พบอาการผิดปกติจากโรคเหล่านี้ อาจเป็นโรคแพนิคหรือโรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) ได้


โรคนี้มักเกิดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและสามารถเกิดร่วมกับโรคอื่นได้ เช่น โรคซึมเศร้า สาเหตุของโรคนี้เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ หากจะเปรียบเหมือนรถยนต์ก็เรียกได้ว่า เครื่องยนต์กำลังรวน เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของร่างกายในหลาย ๆ ส่วน อาการจึงเกิดขึ้นหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งการเต้นของหัวใจ การหายใจ เหงื่อออก เป็นต้น การทำงานของระบบดังกล่าวต้องอาศัยสารเคมีในสมองเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการทำงาน

ดังนั้น การรักษาที่ได้ผลดีและตรงกับสาเหตุก็คือ การรับประทานยาเพื่อช่วยปรับสมดุลการทำงานของสารเคมีในสมอง อาการเหล่านี้ก็จะหายไปได้ นอกจากนี้ การดูแลจัดการกับตัวเองเมื่อมีอาการก็สำคัญเช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบอกกับตัวเองว่า “เราไม่ได้เป็นอะไรมากนะ ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ไม่ได้กำลังจะตาย เราแค่มีอาการแพนิคกำเริบ สักพักอาการเหล่านี้ก็จะหายไปเอง” หายใจเข้าลึก ๆ สักพัก หรือใช้เทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

โรคแพนิคเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ บางคนบอกว่าเป็นโรคที่น่ารำคาญมากเลยทีเดียว แต่หากดูแลรักษาถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดียวกันกับผู้อื่นในสังคมได้



ผศ.พญ.นิดา ลิ้มสุวรรณ
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์



คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล