มช.เจ๋งสร้างเครื่องสกัดสารแคโรทีนอยด์แห่งแรกของไทย

2017-11-16 18:55:50

มช.เจ๋งสร้างเครื่องสกัดสารแคโรทีนอยด์แห่งแรกของไทย

Advertisement

ม.เชียงใหม่ สร้างเครื่องต้นแบบสกัดสารแคโรทีนอยด์ จากปาล์มน้ำมันแห่งแรกของไทย เพิ่มมูลค่าลดการนำเข้าและลดการใช้สารฟอกสี ทำให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินเอมาใช้ด้วย

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เชียงใหม่ ได้สร้างเครื่องสกัดแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเป็นสารตั้งต้นวิตามินเอ ออกจากน้ำมันปาล์มดิบได้สำเร็จ และเป็นเครื่องแห่งแรกของประเทศไทย โดยสามารถ ลดการนำเข้าสารจากต่างประเทศ ลดการใช้สารฟอกสีและเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน





รอง ศ.ดร. พัชรินทร์ ระวียัน นักวิจัยด้านการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ปัจจุบันน้ำมันปาล์มดิบถูกนำไปใช้ในการผลิตน้ำมันสำหรับทอดอาหารเป็นหลัก แม้ว่าน้ำมันปาล์มจะมีการใช้มากถึงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำมันบริโภคทั้งหมด แต่ปาล์มน้ำมันของไทยยังคงเป็นสินค้าเกษตรที่มีปัญหาให้แก้อย่างไม่สิ้นสุด โดยประเทศไทยต้องนำเข้าแคโรทีนอยด์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง แคโรทีนอยด์มีราคากิโลกรัมละหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและปริมาณสารบีตาแคโรทีนที่มีอยู่





ดังนั้น ทางนักวิจัยและทีมวิจัย จึงคิดว่า หากมีการน้ำมันปาล์มดิบมาแยกเอาแคโรทีนอยด์ออกไปก่อนที่จะนำไปผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริโภค หรือไบโอดีเซล ก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมันปาล์มดิบที่สูงมาก เนื่องจากสามารถผลิตสินค้าได้ถึง 2 ชนิด ในครั้งเดียว อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนจากการซื้อดินฟอกสีที่นำใช้และการกำจัดดินฟอกสี พร้อมทั้งช่วยลดการนำเข้าแคโรทีนอยด์จากต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตแคโรทีนอยด์ในปัจจุบัน ยังเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ ซึ่งมีความซับซ้อน ไม่เหมาะกับภาคการผลิตของประเทศไทย ซึ่งทางคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เชียงใหม่ และทีมวิจัย จึงได้สร้างเครื่องต้นแบบสกัดแคโรทีนอยด์ระดับโรงงานเพื่อผลิตแคโรทีนอยด์เข้มข้นจากน้ำมันปาล์มขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)







สำหรับเครื่องต้นแบบนี้ได้พัฒนามาจากเครื่องต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยทำการออกแบบให้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จำหน่ายหรือสร้างได้ภายในประเทศ สามารถซ่อมบำรุงได้โดยช่างเทคนิคในท้องถิ่น มีกำลังผลิตครั้งละ 100 กิโลกรัม สามารถผลิตแคโรทีนอยด์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ไขมันที่เหลือจากการสกัดแคโรทีนอยด์สามารถนำไปผลิตน้ำมันปาล์มบริโภค หรือไบโอดีเซลต่อไปได้ อีกทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ไม่มีความซับซ้อนมาก ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จำหน่าย หรือสร้างได้ภายในประเทศเป็นหลัก การควบคุมการทำงานของเครื่อง และการซ่อมบำรุงสามารถทำได้โดยช่างเทคนิคของไทย