108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : “โรคถุงลมโป่งพอง” แค่ประกอบอาหารก็อาจเป็นได้

2017-11-07 14:00:50

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : “โรคถุงลมโป่งพอง” แค่ประกอบอาหารก็อาจเป็นได้

Advertisement

โรงถุงลมโป่งพองเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่มีปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัว เพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการสะสมมลพิษผ่านการสูดดมเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวได้ ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรทำความเข้าใจ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง



โรคถุงลมโป่งพอง คือภาวะของถุงลมภายในปอดมีการขยายตัวมากขึ้นกว่าปกติ จากการทำลายเนื้อปอดโดยเฉพาะส่วนถุงลม ส่งผลให้พื้นที่ผิวปอด ที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนน้อยลง จนเกิดความยากลำบากในการหายใจ และทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เหมาะสม ปัจจัยเสี่ยง คือการได้รับสารกระตุ้น หรือสารระคายเคือง เป็นเวบานาน เช่นควันบุหรี่ หรือสารมลพิษทั้งในครัวเรือนและนอกครัวเรือนผ่านการหายใจเข้าสู่ร่างกาย



การได้รับสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง เช่น การสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่ เป็นต้น ส่วนการหายใจเอามลพิษเข้าสู่ร่างกาย คือการสูดดมมลพิษจากการเผาไหม้ จากทั้งในและนอกครัวเรือน เช่น การสูดดมควันรถยนต์ การสูดดมควันที่เกิดจากการทำอาหาร เป็นต้น แม้ว่าผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองกว่า 80% นั้นเกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ แต่ปัจจุบันตรวจพบว่ามีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เช่นอินเดีย หรือจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งพบว่าเกิดจากสัมผัสสารกระตุ้น และมลพิษทั้งในและนอกครัวเรือน จึงควรระวังมากขึ้น นอกจากควันบุหรี่ ในเรื่องของการสูดดมสารกระตุ้นให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกาย จากเช่นมลพิษจากการเผาไหม้ที่เกิดอาหารภายในครัวเรือน ที่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ในการหุงหาอาหาร ในสถานที่ที่ อากาศไม่ถ่ายเท เป็นประจำ ก็พบเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้





อาการของโรคถุงลมโป่งพองคือผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบ โดยเฉพาะเวลาออกแรง ถูกจำกัดการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาจมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรังร่วมด้วยเนื่องจากอาการทางปอด ในบางรายอาจเบื่ออาหาร ผอมลง และบางรายอาจเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวโรค อาการที่รุนแรงโรคถุงลมโป่งพองคือ ผู้ป่วยระยะนี้เกิดการกำเริบเฉียบพลันส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว จนต้องมาห้องฉุกเฉิน และรักษาในโรงพยาบาล อาจรุนแรงจนได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ

ทั้งนี้โรคดังกล่าวเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงจากการสูดดม สารกระตุ้น หรือ มลพิษเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ควันรถยนต์ ควันที่เกิดจากการทำอาหารและการเผาไหม้ในกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการไม่สูบบุหรี่ สำหรับการรักษาโรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาด จึงควรป้องกันไว้จะดีที่สุด





ผศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์
สาขาวิชาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


มหาวิทยาลัยมหิดล