คาดพะยูนตรังตายก่อนถูกชำแหละ

2017-10-24 06:55:07

คาดพะยูนตรังตายก่อนถูกชำแหละ

Advertisement

ทีมสัตวแพทย์ผ่าซากพะยูนตรังก่อนนำไปฝัง พบเป็นเพศเมีย ถูกตัดหัว แล่เนื้อ เลาะกระดูก กำนันเผยเป็นซากแรกในรอบกว่า 30 ปีที่เจอสภาพนี้ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงคาดล่าโดยไม่เจตนา พบซากแล้วนำมาชำแหละเอาชิ้นส่วนมีราคาไปขายตลาดมืด

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 ต.ค. เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต นำโดย น.ส.ชวัญญา หรือ หมอแพร เจียกวธัญญู เจ้าหน้าสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 จ.ตรัง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง ได้เข้าร่วมปฏิบัติการผ่าตรวจพิสูจน์ซากพะยูนมีเพียงเครื่องใน ส่วนหัวโดนตัด แล่เนื้อ เลาะกระดูก


นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า ทีมสัตวแพทย์ระบุว่าพะยูนตัวนี้เป็นเพศเมีย เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการล่าพะยูนโดยไม่เจตนา พะยูนมีกลิ่นและตายมาไม่น้อยกว่า 2-3 วัน ลักษณะเหมือนกับเป็นการพบซากพะยูนที่เสียชีวิตแล้วนำเอาชิ้นส่วนตรงส่วนที่มีราคาในตลาดมืด เช่น กระดูก เขี้ยว จึงมองว่าผู้ที่ทำการล่าอาจจะมองว่าเป็นการล่าโดยไม่เจตนา อย่างไรก็ตามทีมสัตวแพทย์จะเอาชิ้นเนื้อไปไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อีกที ว่าตายมากี่วันแล้ว ตายเพราะสาเหตุอะไร รวมทั้งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป


ส่วนกรณีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่จัดฉากนั้น นายชัยพฤกษ์ กล่าวยืนยันว่าไม่มีเรื่องที่จะต้องจัดฉากเป็นการพูดลอยๆไม่มีเหตุผล เราทำงานดูแลพะยูนตรัง ตั้งแต่ที่ผมมาเมื่อปี 2554 พะยูนมี 120-130 ตัว เฉพาะเกาะลิบง พะยูนมีสถิติการเพิ่มขึ้น จนปี 2559 บินสำรวจพบพะยูนประมาณ 170 ตัว เราก็พยายามดูแลอย่างดี แต่มีเรือประมาณ 15-20 ลำ มาวางอวนปลาทูบ้างอะไรบ้าง ซึ่งอยู่ในแนวหญ้าทะเลทั้งนั้น โอกาสที่พะยูนจะติดอวนเยอะมาก เครื่องมือประมงเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราเองจะต้องดูแลอย่างเข้มข้น มีมาตรการประกาศเป็นเขตหญ้าทะเลเขตพะยูนอย่างเข้มข้น พะยูนมีโอกาสที่จะตายได้ตลอดเวลาไม่ใช่ว่าจะตายเพราะหลังจากมีเรื่องดังขึ้นมา แม้แต่วันนี้ก็มีโอกาสเพราะเมื่อใดที่มีเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ที่เป็นอันตราย เช่นเบ็ดราไว อวนปลากระเบน พะยูนก็มีโอกาสตายได้ทุกเวลา


ด้าน นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนัน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง กล่าวว่า เห็นสภาพก็ตกใจกันทั้งเกาะ จริงๆแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ยังหวงแหนอนุรักษ์พะยูนเหมือนเดิม พะยูนเปรียบเสมือนหม้อข้าวของชาวเกาะลิบง ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยว 30 กว่าปีที่ผ่านมาซากนี้เป็นซากแรกที่ได้เจอในสภาพอย่างนี้