เทคนิคสมองไบรท์ คนวัยทำงาน

2017-10-23 07:00:40

เทคนิคสมองไบรท์ คนวัยทำงาน

Advertisement

คนในวัยทำงาน คือคนที่อยู่ในช่วงอายุ 15-64 ปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรไทย โดยคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกำลังสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2540) พบว่าคนในกลุ่มนี้ซึ่งควรจะเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรง กลับเป็นครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตด้วยโรคที่สำคัญต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการป้องกันโรคที่ดีและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมจึงน่าจะช่วยลดอัตราการเสียชืวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนในวัยนี้ได้


ภาพ pickingpok / Shutterstock.com


work-life balance หรือความสมดุลระหว่าง “งาน” กับ “การใช้ชีวิต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากในวัยทำงาน มักพบปัญหาจากการเสียสมดุลนี้ไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีปัจจัยจากหน้าที่การงาน ภาระหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่ หรือความเครียดทางการเงิน จนทำให้มีผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น ภาวะเครียด โรคซึมเศร้า หรือปัญหาทางสุขภาพ เช่น ภาวะนอนไม่หลับ โรคหัวใจ โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน จนถึงปัญหาทางครอบครัวและสังคม



ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับคนวัยทำงาน 


ภาพ leungchopan / Shutterstock.com

1. นอนให้เพียงพอ จากงานวิจัยของสมาคม National Sleep Foundation ซึ่งได้รวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยและบทความต่างๆ เกี่ยวกับการนอน กว่า 300 ผลงาน ได้ข้อสรุปว่า ที่ช่วงอายุต่างๆ มีความต้องการในการนอนไม่เท่ากัน เช่นในช่วงอายุ 26-64 ปี ควรนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน บางคนอาจต้องการการนอนที่น้อยหรือมากกว่านั้น เช่น 6 ชั่วโมง หรือ 10 ชั่วโมงต่อวัน

หากต้องการทราบว่าเราต้องการการนอนเท่าไร ให้สังเกตจากประสิทธิภาพในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง เช่น การไม่ง่วงหลับระหว่างวัน ความคิดและการตอบสนองที่ฉับไว เป็นต้น

2. อาหารที่ดีกับร่างกาย  โดยทั่วไปหลักการของการทานอาหารที่ดี ควรจะทานให้ครบทั้งห้าหมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงสมดุลระหว่างแคลอรี่ที่ได้รับและพลังงานที่ใช้ออกไปในแต่ละวัน ซึ่งหากทานมากกว่าที่ใช้ จะนำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ อีกมาก

คนวัยทำงานมักมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้มักเป็นผลจากการทานอาหารนอกบ้าน และมีเวลาในการออกกำลังกายลดลง การให้ความสำคัญในการเลือกรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี


ภาพ bitt24 / Shutterstock.com 

3. อาหารสมอง สมองเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานจากกลูโคส ซึ่งได้จากการย่อยคาร์โบไฮเดรต แต่ระดับกลูโคสควรสม่ำเสมอและไม่สูงมากจนเกินไป ควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) ต่ำ เช่น ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืชต่างๆ ผลไม้ จะช่วยให้ระดับน้ำตาลคงที่และอยู่ได้นาน

โอเมกา-3 ดีกับสมอง เพราะเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ หลายคนคิดว่าพบแต่ในปลาที่มีราคาแพงอย่างปลาแซลมอน หรือปลาเทร้าส์ แต่ที่จริงแล้วปลาชนิดอื่น เช่น ปลาทู ปลากะพงขาว ปลาสำลี ปลานิล ปลาดุก ปลาสวาย หรือแม้กระทั่งธัญพืช เช่นเมล็ดฟักทอง เมล็ดเชีย ถั่ววอลนัท ต่างก็มีโอเมกา-3 สูงเช่นกัน




นอกจากนี้สมองยังต้องการสารอาหารอีกหลายชนิด เช่น อาหารที่มีวิตามินบี 1, 6, 12 และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี และเบตาแคโรทีน ซึ่งพบได้ในอาหารที่หาทานได้ง่าย เช่น ถั่ว งา ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี ไข่ สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม ผักและผลไม้หลากสี เป็นต้น

4. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ดี ควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ (อย่างน้อยครั้งละ 20-30 นาที) ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strengthening exercise) อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และต้องไม่ลืมที่จะทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (stretching exercise) ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย


ภาพ aodaodaodaod / Shutterstock.com


ที่มาข้อมูล: บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ และ พญ. มณฑินี แสงเทียน รพ. บำรุงราษฎร์