เรื่องเล่าน่ารู้ “เทศกาลกินเจ”

2017-10-17 17:51:57

เรื่องเล่าน่ารู้ “เทศกาลกินเจ”

Advertisement

อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงช่วงเวลาแห่งเทศกาลกินเจ ประจำปี 2560 แล้ว โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 20-28 ตุลาคม สีสันที่เรามักเห็นได้ทั่วไปตามชุมชน ร้านอาหารสองฟากฝั่งถนนก็คือ ธงสีเหลืองตัวอักษรสีแดง ซึ่งเป็นการบ่งบอกให้รู้อย่างชัดเจนว่า เทศกาลกินเจมาถึงแล้ว...


ย้อนกลับไปศึกษาต้นกำเนิดของเทศกาลกินเจ กล่าวกันว่า ประวัติศาสตร์การกินเจนั้นเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวพุทธรู้จักละเว้นการฆ่าสัตว์ งดการทำบาป และหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ด้วยการละเว้นเนื้อสัตว์ เปรียบเสมือนการดีท็อกซ์ ล้างพิษในร่างกาย เพื่อสักการะบูชาเจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้าที่คนจีนนับถือ รวม 9 พระองค์ โดยจะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ไปจนถึงวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9


"การกินเจ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผัก ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า "เจียฉ่าย" หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน) กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย


ปัจจุบันมีการยอมรับกันโดยทั่วไปถึงคุณค่าของ "อาหารเจ" เนื่องจากการรับประทานพืชผักในปริมาณที่มากกว่าปกติ งดเว้นเนื้อสัตว์ ทำให้กระเพาะได้พักจากภารกิจการย่อยเนื้อสัตว์ที่ทำประจำอยู่ และได้รับวิตามินเข้าไปเสริมสร้าง ซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ คนที่กินเจอย่างถูกหลักก็จะได้รับอาหารที่มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การประกอบอาหารเจเพื่อรับประทานในช่วงนี้ จึงสามารถเลือกอาหารพวก ข้าวกล้อง (ใช้แทนข้าวขาว) โปรตีนเกษตร (แทนเนื้อสัตว์) ผักสด เห็ดหอม ถั่วนานาพันธุ์ เต้าหู้ แป้งหมี่กึง ทดแทน และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำเป็นอาหารชนิดต่างๆ ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนจากการรับสารอาหารย่อยยากจากแหล่งอาหารต่างๆ รวมทั้งยังได้รับพลังใจจากการที่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีล ทำให้จิตใจอิ่มเอิบ เบาสบาย


อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนมักเข้าใจว่า การกินเจที่เมนูส่วนใหญ่มักประกอบด้วยแป้งนั้นจะทำให้น้ำหนักร่างกายเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นได้ด้วยวิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ 1.เลือกกินข้าวหรือแป้งที่ไม่ขัดขาว อย่างข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท ลูกเดือย และธัญพืชต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลไม่สูงมากนัก 2. เลือกผักใบมากกว่าพืชหัว เพราะผักใบมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าพืชหัวมาก 3. เน้นอาหารประเภทนึ่ง ต้ม ตุ๋น เพราะไม่มีน้ำมัน และไขมันน้อยกว่าอาหารประเภทผัดและทอด 4. กินของหวานให้น้อยลง ปิดท้ายด้วยข้อ5. อดอาหาร ล้างพิษหลังกินเจ เพราะจะช่วยให้ร่างกายขับพิษต่าง ๆ ออกมาได้ ทั้งยังช่วยลดไขมันในเลือด ลดน้ำหนัก ลดภาวะร้อนในจากธาตุในร่างกายที่ไม่สมดุลได้อีกด้วย




การกินเจนอกจากจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายแล้ว ยังเป็นการละเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ถือเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่นอกจากจะทำให้เราอิ่มใจแล้ว ยังอิ่มบุญอีกด้วย ใครที่กำลังเตรียมกายเตรียมใจเริ่มต้นกินเจในปีนี้ ขออนุโมทนาบุญโดยทั่วกัน