108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและวิธีดูแลสายตาเบื้องต้น (2)

2017-10-18 07:30:37

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและวิธีดูแลสายตาเบื้องต้น (2)

Advertisement

ตามกันต่อจากที่นำเสนอไปครั้งที่แล้ว ยังมีโรคตาอีก 3 โรคที่ควรระวังในผู้สูงอายุ จะเป็นโรคอะไรบ้าง อ่านต่อกันได้เลย



ต้อหิน
เป็นภาวะที่ขั้วประสาทตาถูกทำลาย มักเกิดจากความดันลูกตาที่สูงกว่าปกติ โรคนี้มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าเป็นโรค ยกเว้นในกลุ่มของต้อหินเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาและตามัวมากทันที

ต่อเมื่อเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ลานสายตาและการมองเห็นจะแคบลงๆ จนเกิดการสูญเสียการมองเห็นมากอย่างถาวรแล้ว ผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการ เช่น เดินชนของบ่อยๆ หรือมีปัญหามองไม่เห็นด้านข้างเวลาขับรถ

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดต้อหิน ได้แก่ เชื้อชาติ อายุ ประวัติต้อหินในครอบครัว โรคเบาหวาน สายตาสั้น เป็นต้น

เป้าหมายของการรักษาต้อหิน คือ การรักษาระดับการมองเห็นไม่ให้มีการทำลายขั้วประสาทมากขึ้นอีก ด้วยการลดระดับความดันลูกตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้ยาหยอดลดความดันลูกตา การยิงเลเซอร์ หรือการผ่าตัดลดความดันลูกตา ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคต้อหินที่เป็น



เบาหวานขึ้นตา
ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยเป็นเบาหวานกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ปัญหานี้จึงพบได้มากขึ้นในสังคมคนไทย นอกจากนี้ ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการตาบอดทั้งที่ป้องกันได้อันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

เนื่องจากผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นตาระยะแรกมักไม่มีอาการอะไร กว่าผู้ป่วยจะมีอาการก็มักจะเข้าสู่ระยะที่รักษาได้ยาก เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรแล้ว ดังนั้น การตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีเบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยจะได้รีบรับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที เพื่อที่จะคงการมองเห็นในระยะยาวไว้

การชะลอไม่ให้เกิดเบาหวานขึ้นตา หรือหากขึ้นตาแล้วก็ชะลอไม่ให้เข้าสู่ระยะรุนแรงสามารถทำได้ โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่น ระดับน้ำตาลสะสมน้อยกว่า 7 หรือ 6.5% และควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติในผู้ที่มีความดันสูงร่วมด้วย
ในปัจจุบันวิธีการรักษาเบาหวานขึ้นตา สามารถทำได้ร่วมกันหลายวิธี เช่น การฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นตา การยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา และการผ่าตัดน้ำวุ้นตา ขึ้นกับระดับความรุนแรงของเบาหวานที่ขึ้นตา





จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
พบเป็นสาเหตุตาบอดอันดับหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในอเมริกาและยุโรป ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ พันธุกรรม และการสูบบุหรี่
โรคนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ แบบที่ไม่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติ และแบบมีเส้นเลือดงอกผิดปกติ

ในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยมักบอกไม่มีอาการอะไร ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้นจะเริ่มมีความผิดปกติในการมองเห็น เช่น เริ่มมองเห็นตรงกลางภาพไม่ชัด เห็นเส้นหรือภาพคดบิดเบี้ยว หากเป็นมากขึ้นอาจเห็นเป็นจุดดำบังตรงกลางภาพ

อาการผิดปกติเหล่านี้มักเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นในกลุ่มที่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติ อาจมีอาการแบบเฉียบพลัน เนื่องจากเส้นเลือดแตกทำให้เกิดเลือดออกใต้จอประสาทตา

การรักษาที่มีในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการรักษาในกลุ่มที่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติ โดยการฉีดยาเข้าไปในวุ้นตาเป็นระยะๆ เพื่อลดการงอกและการรั่วของเส้นเลือด หรือการฉายแสงเลเซอร์เย็นไปทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติ เพื่อคงการมองเห็นเอาไว้ ไม่ให้แย่ลง ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไร ยิ่งมีโอกาสรักษาระดับการมองเห็นไว้ได้ก็มาก

จะเห็นได้ว่ามีโรคตาที่อันตรายในผู้สูงอายุหลายโรค ที่ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่สามารถทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้หากรอให้มีอาการ ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แม้มีสุขภาพแข็งแรงและการมองเห็นปกติดี ก็แนะนำให้ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ อย่างน้อย 1-2 ปีครั้ง

และหากอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หรือมีประวัติโรคตาในครอบครัวก็ควรตรวจตาเป็นประจำเช่นกัน
การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงสุขภาพตา เมื่ออายุมากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเตรียมพร้อมให้ผู้สูงอายุไทยเรา ก้าวเข้าสู่ความสูงวัยอย่างแข็งแรง มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี





อ.พญ.ธาริกานต์ สุจิระกุล
ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล