นักเรียนของในหลวงร.๙ “พระองค์ทรงเป็นยอดครู”

2017-10-03 14:00:46

นักเรียนของในหลวงร.๙ “พระองค์ทรงเป็นยอดครู”

Advertisement


“...ครูนั้นจะต้องให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ด้วยความเมตตา ด้วยความหวังดี คือ ด้วยความเมตตาต่อผู้ที่เป็นลูกศิษย์ และด้วยความหวังดีต่อส่วนรวม เพราะถ้าส่วนรวมประกอบด้วยบุคคล ที่มีความรู้ดี ส่วนรวมก็ไปรอด....”

พระราชดำรัสดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะ อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ นั้นสื่อออกมาอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาของเยาวชน และความรับผิดชอบของ “ครู” นั้นมีความสำคัญมากเพียงใดต่อประเทศชาติ ขณะที่พระราชกรณียกิจนานาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเกี่ยวข้องกับการศึกษา รวมถึงเมื่อครั้งที่ทรงรับบทบาทของครูด้วยพระองค์เอง ผ่านทางรายการที่มีชื่อว่า “ศึกษาทัศน์”


รายการ “ศึกษาทัศน์” ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ เพื่อเฉลิม พระเกียรติในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ ๕๐ ปีโดยจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม

จวบจนปี ๒๕๔๔ พระองค์ทรงเป็นครูในรายการ “ศึกษาทัศน์” ของมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม ทรงสอนด้วยพระองค์เอง โดยมีนักเรียนคือ นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลจำนวน ๔-๕ คน เพื่อให้นักเรียนได้เปิดโลกทัศน์จากการศึกษานอกห้องเรียน

นางทิพย์วรรณ ชุมแสง หรือ ครูส้ม คือหนึ่งในนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลที่ได้เป็น “นักเรียนของในหลวง” ในครั้งนั้น


“ตอนนั้นส้มเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนวังไกลกังวล และเป็นนักเรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมรายการศึกษาทัศน์ ถวายพระองค์ท่าน ตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่าพระองค์ท่านจะทรงมาเป็นครูให้พวกเรา” ครูส้มรำลึก “ตอนที่ได้รับเสด็จครั้งแรก เราทราบก่อนหน้าวันจริงเพียงวันเดียวว่าพระองค์ท่านจะทรงมาเป็นครูสอนเรื่องดินที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ก็รู้สึกว่าเป็นเราจริงๆ เหรอที่จะได้เป็นนักเรียนของพระองค์ท่าน เพราะเราก็ไม่ได้เป็นเด็กเก่งและไม่ได้ใช้ราชาศัพท์เป็นกิจวัตร แล้วพอวันรุ่งขึ้นคือวันที่ท่านเสด็จราชดำเนินมาจริงๆ ด้วยความที่พระองค์ทรงไม่ถือพระองค์ และยังรับสั่งเรียกพวกเราว่า “ลูก” ก็รู้สึกคลายความตื่นเต้นไปบ้าง แล้วก็รู้สึกเหมือนพระองค์ท่านเป็นพ่อจริงๆ เป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพมากๆ ท่านหนึ่งที่มาสอนเรา ถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตแล้ว”





นับจากครั้งแรกนั้น ครูส้ม และเพื่อนๆ ก็ได้ตามเสด็จ หรืออีกนัยก็คือการไปเรียนรู้นอกสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงคอยชี้แนะอย่างใกล้ชิดอีก ๓ ครั้งคือ ครั้งที่สองเป็นการศึกษาเรื่องฝนหลวงที่ ที่สนามบินบ่อฝ้าย เมื่อปี ๒๕๔๔ ครั้งที่สามเป็นการตามเสด็จเนื่องในโอกาสที่ปตท.ปลูกป่าถวายในหลวง ๑ ล้านไร่ ที่วนอุทยานแห่งชาติปราณบุรี ในปี ๒๕๔๕ และครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๕๔๗ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียที่แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี


“เวลาที่สอน พระองค์ทรงให้เราอยู่ใกล้พระองค์มาก เพราะพระองค์ท่านก็จะชี้สื่อการสอนต่างๆ และให้ดูว่าพระองค์ท่านทรงทำอะไร ขณะที่เวลาสอน พระองค์ท่านทรงอธิบายละเอียดมาก ดังนั้นบทเรียนครั้งหนึ่งจะกินเวลาประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง ตอนนั้นด้วยความที่ใกล้มากๆ เราก็เลยไม่กล้าสบพระเนตร ก็ได้แต่ก้มๆ จดๆ จนมีอยู่ตอนหนึ่งพระองค์ท่านทรงถามว่า “ที่จดไปเนี่ยเข้าใจไหม” พระองค์ก็ทรงรับสั่งสอนว่า ในการที่เราจะเรียนอะไร เราต้องเข้าใจก่อนแล้วค่อยจดบันทึกลงไป ไม่ใช่เอาแต่จดๆ ตามเท่านั้น เพราะเราจดบันทึกความทรงจำ จึงต้องเข้าใจก่อนที่จะจด พระองค์ทรงเป็นยอดครู คือทรงใส่พระทัยในตัวลูกศิษย์อย่างพวกเราเป็นอย่างมาก โดยในการสอนครั้งสุดท้าย พระองค์ทรงถ่ายรูปพวกเราเก็บไว้ เพื่อจะได้จำเราได้ แล้วก็ยังรับสั่งอีกว่าถ้าเรียนจบแล้วก็ปลอมตัวมาเรียนกันอีกนะ”


จากประสบการณ์ที่ได้รับการชี้แนะอย่างใกล้ชิดจาก “ครู” พระองค์นี้ก็มีส่วนอย่างมากที่บันดาลใจให้ครูส้มได้ก้าวมาเป็นครู คศ.1 
สอนวิชาดนตรี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ อยู่ที่โรงเรียนรัชตวิทยาคมเช่นในทุกวันนี้

“ครั้งสุดท้ายที่เรียนกับพระองค์ พระองค์ทรงถามว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร ตอนนั้นก็รู้ตัวแค่ว่าชอบดนตรี แต่ไม่รู้ว่าจะต้องศึกษาอะไรยังไง แต่เราก็ได้คำตอบในที่สุด เมื่อพระองค์ท่านทรงรับสั่งมาว่า ให้เราเรียนอะไรก็ได้ แต่ขอให้เราเรียนให้จริง แล้วนำความรู้นั้นมาทำประโยชน์ให้สังคมก็พอแล้ว ตอนนั้นเลยจุดประกายว่าความชอบดนตรีของเรานั้นจะเอามาทำประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ยังไงบ้าง บวกกับตอนนั้นเห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นครู ทรงใส่ใจเรื่องการเรียนการสอน เรื่องของครู และเรื่องการศึกษาของประเทศตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนคือ คุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สอนยากที่สุด เทคโนโลยีจะทันสมัยแค่ไหนก็ตามมาสอนแทนคนได้ ครูจึงมีความสำคัญมาก ส้มเลยตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะเป็นครู เพื่อที่จะได้สอนเรื่องราวคุณธรรมต่างๆ หรือเรื่องของพระองค์ท่าน ถ่ายทอดไปกับเด็กๆ ต่อไปค่ะ”




จนถึงวันนี้ แม้ “ครู” ผู้ยิ่งใหญ่ในหัวใจของครูส้มจะได้พักผ่อนอย่างสงบแล้ว แต่บทเรียนที่ได้รับจากพระองค์ยังคงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำเสมอ และกระตุ้นเตือนให้เธอมุ่งมั่นทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติอย่างดีที่สุด

“สิ่งหนึ่งที่ส้มจะบอกเด็กๆ อยู่เสมอก็คือ เราโชคดีมาตั้งแต่เกิดแล้วที่ได้เกิดมาในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ไม่เคยอยู่ในภาวะที่ลำบากเรื่องอาหารการกิน ไม่เจอสงคราม แม้แต่ตัวส้มเอง ถึงพ่อแม่จะจากไปนานแล้ว แต่ถ้ามีคนมาบอกว่าส้มเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราเถียงได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า วันนี้เรามีพ่อคือในหลวงรัชกาลที่ ๙ ส้มสามารถเรียนจนจบได้ก็เพราะบารมีของพระองค์ท่าน คือแม้ส้มจะเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง เป็นแค่หนึ่งในลูกของพระองค์ท่าน ๗๐ ล้านคน ท่านก็ยังใส่พระทัย พอท่านทรงทราบว่าชีวิตเราเป็นยังไง ท่านก็พระราชทานรางวัลที่มีค่ามาให้ ไม่ได้ให้เป็นเงินนะ แต่ให้เป็นทุนพระราชทานในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์จนส้มเรียนต่อจนจบปริญญาตรี” ครูส้มกล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า


“แน่นอนว่าวันที่ ๑๓ ตุลาคม ที่ผ่านมาย่อมเป็นวันที่ทุกคนเสียใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนความเข้าใจว่าความสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เราเสียใจได้ แต่ในความเสียใจนั้นเราจะต้องไม่ละเลยหน้าที่ของเรา ส้มจะบอกเด็กๆ เสมอว่า ถ้าอยากทำอะไรถวายพระองค์ท่าน ไม่ต้องทำอะไรที่ยากลำบากหรอก เราเป็นนักเรียน มีหน้าที่เรียนหนังสือ ก็ให้ตั้งใจเรียน เป็นเด็กดีมีคุณภาพของสังคม แค่นั้นก็พอแล้ว นั่นคือสิ่งที่พระองค์ท่านทรงคาดหวัง และในเมื่อวันนี้พ่อของเราไม่อยู่แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือการน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาเป็นหลักในการดำรงชีวิต และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเจอความขัดแย้ง เราก็จะเปลี่ยนเป็นคนที่ฟังมากขึ้น เราจะรับฟังคนอื่นที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับเราได้มากขึ้น นั่นคือสิ่งที่ส้มตั้งใจจะสอนนักเรียนทุกคนตลอดไปค่ะ”