เสวนาสมาคมนักข่าวฯ ชี้ ม.116 อุปสรรคปฏิรูปประเทศ

2017-09-03 15:20:03

เสวนาสมาคมนักข่าวฯ ชี้ ม.116 อุปสรรคปฏิรูปประเทศ

Advertisement

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา "ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ" ผู้เสวนาส่วนใหญ่มอง มาตรา 116 ถูกนำมาใช้เกินความพอดี และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยภาครัฐ ในการกีดกันและจัดการคนที่มีแนวคิดต่างจากรัฐ ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์โดยสุจริต


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ "ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ" ซึ่งในงานมีตัวแทนจากภาคสังคม กฎหมาย และ การเมือง มาร่วมการสัมมนาครั้งนี้



เริ่มที่ นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา ฮิวแมนไรท์วอช ประจำประเทศไทย มองว่า มาตรา 116 หรือก็คือการยุยงปลุกปั่น ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 ที่นำโดย คสช.นั้น มาตรา 116 แทบจะไม่มีการใช้จากภาครัฐเลย แต่หากจะมีการใช้ก็จะมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าเข้าข่ายหรือไม่ ทำให้คดีในลักษณะผิดมาตรา 116 เกิดน้อยมาก แต่ภายหลังการยึดอำนาจโดย คสช. มาตรา 116 กลับกลายเป็นว่าถูกนำมาใช้ตามอำเภอใจ มีหลักการเพิ่มเข้ามามากมาย กลายเป็น คสช.เป็นผู้ชี้มูลความผิดเอง จึงทำให้หลายฝ่ายไม่กล้าเห็นแย้งหรือตรวจสอบ คสช. ทำให้การใช้มาตรา 116 ของ คสช.ทำให้ส่วนตัวมองว่า เป็นการนำมากล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม






ด้าน นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหลังจากที่ประเทศไทยมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เข้ามาก็มีการพ่วงข้อหาหมิ่นประมาทเข้าไปกลายเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ทำให้คดียุ่งยากมากขึ้น ขณะที่บางกรณีการผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็มีการใช้มาตรา 112 เข้ามาพ่วงด้วยทั้งที่หลายกรณีไม่มีการพูดหมิ่นเบื้องสูง ทำให้มีการตีความแบบพ่วง เพื่อไปรับใช้ทางการเมือง เป็นการนำกฎหมายมาใช้โดยผู้มีอำนาจ เป็นการรับใช้ใครก็ตามที่ไม่ต้องการให้สื่อมวลชน หรือประชาชนมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง



ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า สิ่งที่วิจารณ์รัฐบาลทุกวันนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อกลุมคนบางกลุ่ม ส่วนมาตรา 116 จะเป็นอุปสรรคการปฏิรูปประเทศหรือไม่นั้น ยืนยันว่า มาตรา 116 เป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ ต้องเข้าใจว่าการแสดงความเห็นคัดค้านไม่ได้หมายความว่าจะผิดไปทั้งหมด อีกทั้งมาตรา 116 ไม่ได้บัญญัติในยุค คสช. มันเกิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 เพราะความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาปกป้องและรักษาประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคง

แต่ปัจจุบันมาตรา 116 ถูกหยิบยกมาใช้ เพราะเกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองที่ออกมาต่อต้านผู้มีอำนาจและภาครัฐ ยอมรับว่า การนำมาตรา 116 มาใช้ต้องการให้เกิดความกลัวและไม่กระทำผิดซ้ำ รวมถึงต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อย จึงต้องนำกฎหมายดังกล่าวมาควบคุมบ้านเมืองเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า จึงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ไม่เห็นด้วยบ้าง และส่วนตัวเชื่อว่าและหวังว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะ มาตรา 116 สุดท้ายจะไม่ถูกตัดสินให้มีความผิดในมาตรานี้





สำหรับ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เห็นสอดคล้องว่า มาตรา 116 ถูกนำมาใช้บ่อยในระยะนี้ หากมองตามกรอบรัฐธรรมนูญ เมื่อเทียบกับมาตรา 116 แล้วการติชมโดยสุจริต การวิจารณ์ในเชิงกระทบการปกครองแต่ไม่มีกองกำลัง ก็ถือว่าไม่เข้าข่ายความผิด ดังนั้นสื่อมีสิทธิ์แสดงความเห็นตามสิทธิเสรีภาพ หากตีความตามรัฐธรรมนูญ แค่การวิจารณ์ถือว่าไม่เข้าข่าย 116 อยู่ที่การใช้ของคนมีอำนาจ