อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ จวก ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ก็สอบครูได้

2017-03-23 17:40:11

อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ จวก ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ก็สอบครูได้

Advertisement

วันนี้ (23 มี.ค.60) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "มุมมองเชิงวิชาการต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสอบบรรจุครูได้" 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภอยากให้มีการฟื้นกรมการฝึกหัดครู ตนก็ดีใจและเห็นว่า นายกฯเห็นความสำคัญของครู แต่จากนั้นไม่นานก็มีการยุบคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นครู โดยให้ใครก็ได้มาเป็นครู และเรียนเพียง 4 ปี ขณะที่หลักสูตรคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต้องเรียน 5 ปี  มีการบ่มเพาะทั้งต้นทุนวิชาชีพ ปรัชญาองค์ความรู้และจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งเป็นการขัดแย้งกัน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการศึกษาทุกระดับเวลานี้อยู่ในขั้นไอซียูและวิกฤติเชิงคุณภาพทั้งประเทศ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจึงเหมือนไฟลนก้นพยายามทำทุกวิถีทางให้คุณภาพดีขึ้น โดยมุ่งไปที่การติวการเรียนทุกอย่าง เพื่อให้คะแนนการวัดผลทั้งในและต่างประเทศดีขึ้น แต่สุดท้ายคะแนนเด็กก็ยังตกเหมือนเดิม ตนเห็นว่าการติวไม่ใช่วิธีการทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่คุณภาพการการศึกษาจะดีขึ้นได้อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ที่จะต้องทำให้เด็กสามารถเผชิญและแก้ปัญหาต่างๆได้




ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เผยความรู้สึกว่า การเป็นครูสมัยนี้ยากขึ้น เพราะจะต้องมีองค์ความรู้ ทักษะ และต้องรู้กระบวนการหล่อหลอมให้ผู้เรียนผูกพันกับการเรียน ซึ่งคณะครุศาสตร์ -ศึกษาศาสตร์ ก็พยายามพัฒนาหลักสูตร และต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เรากำลังพัฒนาหลักสูตรครูให้มีคุณภาพและทันสมัยขึ้น เรื่องการให้วิชาชีพอื่นมาเป็นครูนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีการเปิดโอกาสให้คนเก่งมาเป็นครูในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี ดร.อดิศัย โพธารามิก เป็นรมว.ศึกษาธิการ แต่ก็เกิดปัญหาคนเก่งจริง แต่สอนไม่ได้ สุดท้ายบางคนต้องย้ายไปทำหน้าที่เป็นศึกษานิเทศก์ ตนไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องทำผิดซ้ำ ไม่นำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ก่อนออกเป็นนโยบาย ซึ่งนโยบายที่ออกมาเวลานี้เป็นการตัดสินใจอย่างเร่งด่วน โดยผู้มีอำนาจ ขาดความรู้ ขาดการมีส่วนร่วม เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด แต่เป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่ขึ้นตามมา ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามแก้ปัญหาโดยการดึงคนเก่งมาเป็นครูมีการบ่มเพาะถึง 5 ปี แต่เวลานี้กลับเอาใครก็ได้ซึ่งเรียน 4 ปีมาเป็นครู เชื่อว่าในอนาคตจะทำให้คนเก่งไม่มาเรียนครูอีก