“สืบ นาคะเสถียร” ผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์สา-ป่าไม้ "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว"

2018-02-07 16:20:49

“สืบ นาคะเสถียร” ผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์สา-ป่าไม้ "ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว"

Advertisement

ตำนานคนรักษ์ป่า 



ในวันที่ 31 ธ.ค.ของปี 2492 ครอบครัวนาคะเสถียรที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นปลัดจังหวัดปราจีนบุรีได้ถูกเติมเต็มจนสมบูรณ์ ด้วยของขวัญชิ้นสำคัญส่งท้ายปีนั้น เมื่อลูกชายคนแรกที่เกิดออกมาลืมตาดูโลกกว้าง ยังความยินดีมาให้คุณพ่อสลับ และคุณแม่บุญเยี่ยมอย่างมากมาย

ทั้งคู่ตั้งชื่อให้กับลูกชายคนหัวปีนี้ว่า “สืบยศ นาคะเสถียร”

ด.ช. สืบยศเป็นเด็กที่เรียนดีมาตลอด นอกจากนั้นยังเป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน ขณะเดียวกันก็ยังช่วยที่บ้านทำไร่ไถนาอย่างแข็งขันสม่ำเสมอ ชีวิตของเขาดำเนินไปอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งเขาเรียนจบระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2514


หลังจากที่เริ่มงานที่การเคหะแห่งชาติได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ โชคชะตาก็นำทางเขามาสู่เส้นทางนักอนุรักษ์ โดยเริ่มต้นด้วยตำแหน่งรองหัวหน้างาน ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี ซึ่งด้วยหน้าที่การงานทำให้เขาได้รู้จักกับการรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องออกลาดตระเวน ต้องปลูกบำรุงป่า กระทั่งค่อยๆ เกิดความรักและหวงแหนป่าไม้เพิ่มขึ้นทีละน้อย

หลังจากที่ทำงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียวได้พักใหญ่ สืบก็ได้ทุนโคลัมโบไปเรียนปริญญาโทด้านอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในประเทศอังกฤษ และกลับมาประจำเป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ก่อนหน้าที่จะขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าอันเป็นงานที่รักและเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว


จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิตได้มาถึงเมื่อสืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา(เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2529 แม้สืบจะสามารถช่วยอพยพสัตว์ป่าให้รอดชีวิตจากน้ำท่วมได้ 1,364 ตัว แต่ก็ถือเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัตว์ที่ต้องตายไปจากเหตุการณ์อุทกภัยคราวนั้น

สืบจึงตระหนักได้ว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เขาบรรลุซึ่งเป้าหมายของเขาได้ เขาจึงเริ่มหันมายืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องสัตว์ป่าและธรรมชาติในทุกรูปแบบเท่าที่เขามีกำลังความสามารถทำได้ เช่น เข้าร่วมคัดค้านรัฐบาลในการที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยสืบจะเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”




จวบกระทั่งปี 2531 สืบกลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกครั้ง โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ช่วงเวลานี้เอง ที่ทำให้เขายิ่งพบปัญหาต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต สืบจึงเขียนรายงานยื่นแก่ World Wild Fund for Nature เพื่อขอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลสำคัญก็คือเพื่อให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้รับการอนุรักษ์และดูแลอย่างยั่งยืน ก่อนหน้าที่จะตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรในอีก 2 ปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนที่เป็นเพียงข้าราชการซี 6 เงินเดือน 8 พันกว่าบาทในเวลานั้น ไม้ซีกอย่างสืบจึงไม่อาจไปงัดไม้ซุง อันหมายถึง การคอรัปชั่น ระบบอุปถัมป์ของทั้งคนทำงาน นักการเมือง พ่อค้า และผู้มีอิทธิพลต่างๆ ได้ การทำงานของสืบจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก เสี่ยงตาย ขณะที่งบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มีจำกัด มิใยต้องพูดถึงการสนับสนุนจากส่วนกลางที่มีน้อยทั้งมีข้อจำกัดมากมาย...สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คล้ายกับว่าสืบกำลังยืนหยัดปกป้องผืนป่าเพียงลำพัง...เช่นเดียวกับกำลังใจที่ค่อยๆ ลดถอยลง

ในที่สุดสืบจึงต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อจุดประกายให้โลกรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และเพื่อปกป้องธรรมชาติที่เขารักให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ตราบนานเท่านาน


คืนวันที่ 31 ส.ค. ล่วงเข้าสู่เวลาเช้าของวันที่ 1 ก.ย. 2533 มีเสียงปืนนัดหนึ่งดังขึ้นก้องไปทั่วทั้งป่าแห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

เป็นเสียงปืนที่เกิดขึ้นจากการปลิดชีพตนเองของผู้ชายร่างใหญ่ที่มีความรักและผูกพันกับสารพันธุ์สัตว์ป่า ต้นไม้ และสายน้ำอย่างลึกซึ้ง ทว่าจากระยะเวลาหลายปีแห่งความทุ่มเททำงาน รณรงค์ และเรียกร้องให้สังคมกับภาครัฐใส่ใจอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่งกับทุกชีวิต ความพยายามของเขากลับคล้ายจะสูญเปล่า จนเกิดความท้อแท้และผิดหวัง กระทั่งเกิดอัตตวินิบาตกรรมอันน่าเศร้าดังกล่าว 

ตั้งแต่นั้นมา ชื่อของเขา...สืบ นาคะเสถียร ก็กลายเป็นเหมือนดังสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ผืนป่าและธรรมชาติ 




“ผมคิดว่าชีวิตผม ผมทำได้ดีที่สุดแล้วเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่าผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว ผมคิดว่าผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว และผมพอใจ ผมภูมิใจสิ่งที่ผมทำ” สืบ นาคะเสถียร

สืบทอดเจตนา
การจากไปของสืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลสะเทือนต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของเขาได้ถูกสืบสานต่อไป โดยกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับเขาซึ่งร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรขึ้นภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตได้ 18 วัน เพื่อสานความฝัน สืบต่อความคิด ใส่ความมุ่งมั่นในการทำงาน อนุรักษ์ป่าไม้สัตว์ป่าต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม


"สิ่งที่เกิดขึ้นนับจากการจากไปของพี่สืบนั้น ถ้าพูดในเชิงจิตวิญญาณ สืบ นาคะเสถียร ก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์สำหรับคนทำงานอนุรักษ์ จนมีคำกล่าวที่ว่า อนุรักษ์ในร่างสืบ การทำงานของนักอนุรักษ์ตลอด 27 ปีที่ผ่านมาก็อยู่ในรอยทางของสืบนั่นเอง ขณะที่ในส่วนของการอนุรักษ์โดยรวมของบ้านเรามันก็ถูกยอมรับทุกภาคส่วน การรักษาป่าก็ใช้ได้ คือ อัตราการลดลงของป่าอยู่ในระดับที่น้อย ยังไม่ต่างจากสมัยที่พี่สืบอยู่มากนัก” ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว “ส่วนในแง่ของรูปธรรม การจากไปของพี่สืบได้สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ นโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่สำเร็จในเวลานั้น ทั้งการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองและรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งเรื่องของ พรบ. สิ่งแวดล้อม แต่พอพี่สืบเสียชีวิตมันก็สามารถสำเร็จได้เกือบทั้งหมด”

นอกจากนั้น ศศิน ยังให้ทรรศนะว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เกิดการตื่นตัวเรื่องเรื่องธรรมชาติศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นอีกผลพวงหนึ่งที่สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเช่นกัน

“ทุกวันนี้ กระบวนการศึกษาเรียนรู้ทางสิ่งแวดล้อมศึกษาก็ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศไทย ใครๆ ก็จะต้องเรียนเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา หรือหลักสูตรในการจัดการสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นทั่วไปในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่พี่สืบเสียชีวิต"


ขณะที่เป้าหมายของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรนั้น ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเผยว่า
“มูลนิธิในช่วงนี้เราสนใจในแง่ของการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายเป็นหลัก คือการผลักดันให้มาตรฐานการดูแลรักษาป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนั้นเป็นมาตรฐานที่ไว้วางใจได้ ว่าจะรักษาป่าให้ประเทศไทยได้อย่างมีคุณภาพ โดยเราได้เสนอเรื่องในเชิงนโยบายไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินลาดตระเวณเชิงคุณภาพ การให้บริการประชาชนที่เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน และเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยป้องกันรักษาป่าต่างๆ ขณะที่ตอนนี้เราก็ได้ไปสนับสนุนการเดินลาดตระเวณเชิงคุณภาพในพื้นที่ป่าตะวันตกเพื่อที่จะเป็นตัวอย่างให้กับกรมอุทยานในการทำงานต่อไป”




และสำหรับวาระครบรอบ 27 ปีของการจากไป สืบ นาคะเสถียร ทางมูลนิธิฯ ก็ได้มีหลากหลายกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้จากไป

“เรามีการจัดงาน “จากป่าสู่เมือง บันทึกหยุดเขื่อนน้ำโจน รำลึก 27 ปี สืบ นาคะเสถียร” ระหว่างวันที่ 8 - 10 ก.ย. นี้ เวลา 10.00 น. - 20.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยในวันที่ 8 ก.ย. จะมีการนำเสนอเรื่องราวแรงบันดาลใจจาก ‘สืบ นาคะเสถียร’ ถึงช่างภาพผืนป่าสัตว์ป่าในประเทศไทย ที่รวมกันเป็นทีมทำงานเดียวกันในชื่อ ‘สารคดีสัญชาติไทย’ นำทีมโดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ กับเรื่องเล่าสื่อความหมายงานอนุรักษ์ทรัพยากรผ่านภาพถ่ายและงานสารคดีภาพเคลื่อนไหว ส่วนวันที่ 9 ก.ย. จะมีการร่วมรำลึกเหตุการณ์หยุดเขื่อนน้ำโจน กับเรื่องราวการทำงานของสืบ นาคะเสถียร และผองเพื่อน ผ่านงานบรรยายจากบุคคลที่ร่วมในเหตุการณ์ ในมิติต่างๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"


“กิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสำคัญของการอนุรักษ์คือคนเมือง ได้สัมผัสกับเนื้อหาสาระในเชิงอนุรักษ์ ผ่านงานเสวนา ดนตรี งานศิลปะต่างๆ ด้วยหวังว่าเมื่อคนที่เข้ามาได้เรียนรู้และซึมซับได้แล้ว ในที่สุดเขาก็จะเติบโตไปเมื่อปัจจัยเหมาะสมบ่มเพาะเขาก็จะกลายเป็นนักอนุรักษ์ที่ทำหน้าที่สืบทอดเจตนา และเผยแพร่เรื่องราวเชิงอนุรักษ์ต่อไป" ศศิน กล่าวทิ้งท้าย

ทุกวันนี้ แม้ สืบ นาคะเสถียรจะจากไปนานถึง 27 ปีแล้ว แต่เสียงของกระสุนนัดนั้นก็ยังคงดังกึกก้องอยู่ในหัวใจคนรักป่ารักธรรมชาติทุกคน

รวมถึงเจตนารมณ์ของเขาที่ยังคงถูกสืบทอดมาจวบปัจจุบัน