คัดค้านขึ้นราคารถไฟฟ้าบีทีเอส

2017-08-31 19:15:06

คัดค้านขึ้นราคารถไฟฟ้าบีทีเอส

Advertisement

ภาคประชาชนคัดค้านการขึ้นราคารถไฟฟ้าบีทีเอส จี้ดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกสถานี ปฏิรูปบริการขนส่งสาธารณะ ค่าใช้จ่ายต่อวันไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับมาเลเซีย

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) คัดค้านการขึ้นค่าโดยสารบีทีเอส เหตุผู้พิการและผู้สูงอายุยังไม่สามารถใช้บริการได้เพราะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และจากผลประกอบการของบริษัทการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น 100.2% จากปีก่อน เป็น 3,110.3 ล้านบาท และมีรายได้จากระบบขนส่งมวลชนที่สูงมากถึง 196.9 % จึงไม่มีเหตุให้ขึ้นราคา พร้อมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทบทวนการอนุญาตให้ขึ้นราคาในครั้งนี้ และขอให้บริษัทชะลอการขึ้นราคาจนกว่าจะมีการดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกในทั้ง 23 สถานี รวมทั้งให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปบริการขนส่งสาธารณะ ให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายต่อวันไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย หรือกำหนดมีค่าใช้จ่ายสูงสุดต่อวันที่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะทุกประเภทเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย

จากตัวอย่างร้องเรียนหากใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางของผู้บริโภคจากรัตนาธิเบศร์ ถึงสีลมหรือบางนา รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อวัน ซึ่งราคาสูงเกินไปในการใช้บริการขนส่งต่อวัน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้




ทั้งนี้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นค่าโดยสารเส้นทางสัมปทาน สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร อัตราค่าโดยสารใหม่เพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 1 – 3 บาท โดยปรับจากราคา 15 บาท – 42 บาท เป็น 16 บาท – 44 บาท จะเรียกเก็บอัตราเดินทางสถานีแรก 16 บาท, สองสถานี ราคา 23 บาท, สามสถานี ราคา 26 บาท, สี่สถานี ราคา 30 บาท, ห้าสถานี ราคา 33 บาท, หกสถานี ราคา 37 บาท, เจ็ดสถานี ราคา 40 บาท และแปดสถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค นี้เป็นต้นไป