วิจัยมะม่วงมหาชนกต้านมะเร็ง

2017-08-31 18:40:11

วิจัยมะม่วงมหาชนกต้านมะเร็ง

Advertisement

สกว.จับมือมหาวิทยาลัยนเรศวร โชว์ผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาเอก เพิ่มสารแอนโทไซยานินและแคโรทีนอยด์ในมะม่วงมหาชนก หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และโรลออนลดขนรักแร้จากว่านมหาเมฆ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร นำสื่อมวลชนเข้ารับฟังการบรรยายการศึกษาสารต้านอนุมูลอสิระในมะม่วงมหาชนกเพื่อนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนา นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ พร้อมกับเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และนายรัฐพล เมืองเอก นักศึกษา คปก. คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีโจทย์วิจัยจากผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มาจากธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในปัจจุบัน จึงทำให้มีการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของพืชชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ในผักและผลไม้จะพบสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคโรทีนอยด์ ซึ่งไม่แสดงสีให้เห็น เนื่องจากถูกสีเขียวของคลอโรฟิลล์บดบังไว้ แต่เมื่อผักและผลไม้แก่ตัว คลอโรฟิลล์จะสลายตัวไป สารสีแคโรทีนอยด์จึงปรากฏสีให้เห็น เช่น เหลือง ส้ม แดง



ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ระบุว่า แคโรทีนอยด์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมี คือ แคโรทีน และเบต้าแคโรทีน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าแคโรทีนอยด์มีประโยชน์ทางด้านช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ช่วยในการรวมตัวเองเข้ากับเยื่อบุเซลล์เหมือนกับวิตามินอี ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 40% อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งคือ แอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นรงควัตถุหรือสารที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน สารสกัดแอนโทไซยานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และเส้นเลือดอุดตันในสมอง ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร






มะม่วงมหาชนกเป็นมะม่วงพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมกันระหว่างพันธุ์ซันเซทของอเมริกา และพันธุ์หนังกลางวันของไทย มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่ามะม่วงพันธุ์อื่น คือ เปลือกผลเมื่อแก่หรือสุกจะมีผิวสีแดงม่วงสวยงาม หรือเหลืองเข้มปนแดง ดังนั้นจึงมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดสีแดง และปริมาณแอนโธไซยานินในผลมะม่วงมหาชนก พบว่าการฉีดพ่นสารเมทิลจัสโมเนส ความเข้มข้น 80 ppm สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพ เช่น วิตามินซี ปริมาณน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส ซูโครส และพบการเพิ่มขึ้นของปริมาณแคโรทีนอยด์ เท่ากับ 1.43 มิลลิกรัมตอ 100 กรัมน้ำหนักสด มากกว่าการไม่ฉีดพ่นสาร อีกทั้งการใช้สารเมทิลจัสโมเนส และเอทิฟอนมีผลในการเพิ่มระดับของแคโรทีนอยด์ระหว่างการสุกแก่มากกว่ามะม่วงที่ไม่ใช้สาร 50% โดยพบมากที่สุดในช่วงวันที่ 5-6 ของการเก็บรักษา (ระยะพร้อมรับประทาน) อีกทั้งการประยุกต์ใช้สารเมทิลจัสโมเนส และเอทิฟอน ยังสามารถควบคุมกระบวนการสุกและปรับปรุงคุณภาพทางโภชนาการของผลมะม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสารดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง ปราศจากสารตกค้าง



นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ศึกษาปัจจัยของแสงร่วมกับสารเมทิลจัสโมเนส พบว่าผลมะมวงที่ไดรับแสงรวมกับการฉีดพนสารละลายเมทิลจัสโมเนส ความเขมขน 80 ppm ที่อายุผล 90 วันหลังดอกบาน ทําใหเกิดพื้นที่สีแดงเพิ่มขึ้น 25% ของพื้นที่ผิวเปลือกผล และมีปริมาณแอนโทไซยานินเพิ่มขึ้นในมะม่วงพันธุ์มหาชนกเทากับ 1.31 มิลลิกรัมตอ 100 กรัมน้ำหนักสด โดยแสงอาจมีผลต่อการส่งเสริมการสร้างแอนโทไซยานินในผลมะม่วง “งานวิจัยนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วงมหาชนกให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ทั้งนี้ในฤดูกาลจะให้ผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และนอกฤดูในช่วงเดือนมิถุนายนถึงมีนาคม หากสามารถทำให้มะม่วงมหาชนกมีสีแดงสม่ำเสมอและสวยงาม จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น” นักวิจัยกล่าว

ขณะที่ รศ. ดร.กรกนก อิงคนินันท์ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสมุนไพร มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ เพื่อติดตามผลงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่กระตุ้นการขึ้นใหม่ของผม และผลิตภัณฑ์ชะลอการเจริญของขนรักแร้และขนตามร่างกาย” ซึ่งทำวิจัยร่วมกับ รศ.ดร.เนติ วระนุช และคณะ หลังจากพบว่าภาวะผมร่วงเป็นปัญหาที่มีผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจในตนเอง หนึ่งในภาวะผมร่วงที่พบบ่อย คือภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชาย ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ที่ส่งผลกระตุ้นทำให้เกิดอาการผมร่วง การใช้สารต้านเอนไซม์ไฟว์แอลฟารีดักเทสที่เปลี่ยนเทสโทสเตอโรน เป็น DHT จึงมีศักยภาพที่จะใช้รักษาภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนเพศชายได้


การวิจัยพบว่าสารสกัดจากว่านมหาเมฆซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับขมิ้น มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายทั้งในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ด้วยกลไกยับยั้งเอนไซม์ไฟว์แอลฟารีดักเทส โดยสารหลักที่ออกฤทธิ์สูงสุดคือ “เจอมาโครน” ซึ่งจากการศึกษาความเป็นพิษพบว่าสารสกัดไม่เกิดพิษทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จากนั้น คณะวิจัยได้ศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของสารสกัด และพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมสำหรับผู้มีปัญหาศีรษะล้านจากสารสกัดมาตรฐานนี้



ผลการทดสอบความปลอดภัยพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีปัญหาด้านการระคายเคืองต่อผิว ขณะที่ประสิทธิภาพในเชิงคลินิกในอาสาสมัครชายจำนวน 87 คนที่มีภาวะศีรษะล้านในโรงพยาบาลของรัฐ 3 แห่ง โดยศึกษาแบบสุ่มเทียบกับยาหลอก และยาไมน็อกซิดิล ซึ่งเป็นยากระตุ้นการเจริญของผม พบว่าสารสกัดนี้ช่วยเพิ่มการเจริญของผมอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก และแสดงผลเทียบเท่ากับไมน็อกซิดิล แต่ผลจะดียิ่งขึ้นถ้าใช้สารสกัดร่วมกับยาดังกล่าว งานวิจัยนี้จึงแสดงถึงศักยภาพในการนำสารสกัดว่านมหาเมฆมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์กระตุ้นการเจริญของผม โดยคณะนักวิจัยได้จดสิทธิบัตรและได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท สยาม นวัตต ในปี 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้การมีแอนโดรเจนฮอร์โมนมากจะนำไปสู่การเจริญของขนตามลำตัวและใบหน้ามากกว่าปกติ คณะผู้วิจัยจึงได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผ่านทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เพื่อศึกษาฤทธิ์ของว่านมหาเมฆในการยับยั้งการเจริญของขนรักแร้ โดยพัฒนาโรลออนสำหรับชะลอการเจริญของขนรักแร้ ซึ่งผลการประเมินประสิทธิภาพในเชิงคลินิกในอาสาสมัครหญิง 30 คน ทั้งศึกษาแบบสุ่มและควบคุมด้วยยาหลอก พบว่าอัตราการเจริญของขนรักแร้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ไป 4 สัปดาห์เมื่อเทียบกับยาหลอก